จริงหรือไม่จริง สว อิเฎลขอให้พิจารณาตามเหตุผล
จริง เพราะการนั่งสมาธิ เจริญภาวนาเป็นการพัฒนาตนเองโดยตรง เป็นการทำให้มีสุขภาพจิตที่ดีขึ้น เปรียบเสมอเป็นการทำบุญให้ตนเอง
แต่เมื่อผู้คนทราบเช่นนี้ ทำให้พวกคนงก ไม่ยอมทำทาน กับคนไม่มีศีล หันมาเจริญภาวนา หวังจะได้บุญชดเชยความบาปของตน เช่น ไม่ยอมดูแลพ่อแม่แก่เฒ่า แต่หนีมานั่งสมาธิที่วัด แถมไม่ให้ทานทั้งที่วัด และไม่รู้จักช่วยเหลือเพื่อนร่วมงาน เป็นต้น คนเช่นนี้มีอยู่จริง และมีอยู่มากในสังคมปัจจุบัน
สว อิเฎลก็สงสัยเรื่องนี้มานานแล้ว มีหลายคนที่อิเฎลรู้จักคิดเช่นนี้ ถ้าไม่มีใครทำทาน ตักบาตร แล้วพระพุทธศาสนาจะดำรงค์อยู่ได้อย่างไร แล้วถ้าคนหวังแต่นั่งสมาธิ แต่ไม่รักษาศีล บ้านเมืองจะสงบร่มเย็นได้อย่างไร
วันนี้ได้เดินเข้าไปในห้องสมุด อ่านหนังสือของ ป. อ. ปยุตฺโต ท่านเขียนเรื่องทางสายกลางของศาสนาพุทธ กับการพัฒนาการศึกษาสำหรับเยาวชน โดยแกนของหนังสือเล่มนี้อยู่ที่เรื่องทางสายกลาง (คนมีปัญญา ถึงแม้ตกทุกข์ ก็ยังหาสุขพบ) ซึ่งแสดงให้เห็นว่าคนที่เลือกปฏิบัติเฉพาะการเจริญภาวนา มิใช่ทางของพระพุทธศาสนา
ทางสายกลางในพระพุทธศาสนาคือปฏิบัติทั้งด้าน ทาน ศีล และภาวนาไปพร้อม ๆ กัน เพราะถ้าเลือกปฏิบัติก็เท่ากับว่ามีด้านที่ตึงไปและหย่อนไป แต่ที่เราต้องมาแยกเป็นหัวข้อให้เห็น 3 หัวข้อ เพราะ เราแยกเพื่อพิจารณา ศึกษาไปเป็นเรื่อง ๆ เพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น
อิเฎลจึงยกตัวอย่างนี้เปรียบเหมือนกับร่างกายคน ที่เราศึกษาการทำงานของอวัยวะส่วนต่าง ๆ แต่ความเป็นจริงอวัยวะทุกส่วนก็ทำงานไปพร้อม ๆ กัน และหากมีอวัยวะใดเกิดผิดปกติ ก็ทำให้ทั้งระบบแย่ตามไปด้วย เหมือนกับเรื่องการสร้างบุญบารมี ทำทาน ถือศีล เจริญภาวนา ถ้าขาดตกบกพร่องสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ก็จะทำให้เกิดภาวะที่ไม่เกื้อกูลกัน เช่น นายปูไปดื่มเหล้า แล้วจะมานั่งสมาธิ สมาธิก็ไม่เกิด เพราะทำผิดศีลมาก่อน ไม่มีสติ หรือ ถ้านายปูไม่ได้กินเหล้ามา แต่ไปพูดโกหกมา นายปูก็จะมีเรื่องกังวลใจ ทำให้สมาธิไม่เกิดเช่นกัน
ส่วนหลักธรรมอื่น ๆ ในพระพุทธศาสนาก็เช่นเดียวกัน เราจะเลือกปฏิบัติเป็นบางข้อไม่ได้ เพราะจุดประสงค์ที่พระพุทธเจ้าแยกมานั้น คือเพื่อให้เราได้ศึกษาเรียนรู้ได้ง่ายขึ้น มิใช่ให้คิดทำข้อนี้ แต่ไม่เอาอีกข้อ