Khoa Khitchakut National Park
คำถาม ที่ถามกันบ่อยเกี่ยวกับ เขาคิชฌกูฏ
รตจิตรเขียนเรื่อง เขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี จากประสบการณ์ที่เพิ่งกลับมาจากเขาคิชฌกูฏ เพื่อเป็นวิทยาทาน และธรรมทานให้เพื่อน ๆ ที่ต้องการหาข้อมูล หาคำตอบจากคำถามที่มีมากมายเกี่ยวกับ เขาคิชฌกูฏ เช่น
ทำไมจึงมีผู้คนไปเขาคิชฌกูฏกันเป็นจำนวนมาก ?
– เพราะเป็นสถานที่รวมความมหัศจรรย์ทางธรรม (ธรรมชาติ) มีกลิ่นอายของพุทธศาสนา และมีพลังแห่งความศักดิ์สิทธิ์ ที่รู้สึกได้ คำเลื่องลือว่า เป็นเขาเพื่ออธิษฐาน โดยผู้ที่ขึ้นเขาสามารถอธิษฐานขอได้ 1 ข้อ และหากไม่บน ก็ไม่ต้องแก้ เพราะเป็นเขาเพื่อการขออธิษฐาน ณ บริเวณรอยพระพุทธบาท รตจิตรไปเขาคิชฌกูฏครั้งแรก ลองสอบถามคนที่ไปซ้ำแล้วซ้ำอีก เพราะพวกเขาขอแล้วสมหวังกันทั้งสิ้น จึงกลับมาขออีกในปีต่อ ๆ ไป แต่เป็นเรื่องดี ๆ และเป็นไปได้ทั้งนั้น
ทำไมถึงเปิดเขาให้ขึ้นไปสักการะเพียง 2 เดือน
– แรก ๆ ที่เปิดเขา ให้ขึ้นเขาแค่ 16 วัน มาระยะหลัง ๆ จนถึงปัจจุบันจะขยายเวลาเป็น 60 วัน มีคำถามอยู่บ่อย ๆ ว่าทำไมต้องปิดเขา คำตอบก็คือเขาคิชฌกูฏ เป็นอุทยานแห่งชาติ มีสัตว์ป่าจำนวนมากอาศัยอยู่ และผู้คนก็ขึ้นเขากันทั้งวันทั้งคืน สงสารสัตว์ป่าที่ต้องออกหากิน เจ้าหน้าที่ดูแลคิวรถกระบะเพื่อขึ้นเขา เล่าว่า มีอยู่ปีหนึ่งที่ปิดเขาแล้ว คนไม่เชื่อ ยังแอบขึ้นเขา สิ่งที่ทำให้คนเหล่านั้นต้องรีบลงมาเพราะเจอทั้งงู และเสือแม่ลูกที่ออกมาหากินเพราะความหิวโหย เป็นเรื่องมหัศจรรย์อีกเรื่องที่สัตว์ป่าจะไม่ออกมารบกวนผู้คนที่มีศรัทธาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในช่วงระยะเวลาที่มีการบวงสรวงขอไว้ แต่พอครบกำหนดจะออกมาทันทีด้วยความหิวโหย
เวลาขึ้นเขาที่ดีที่สุดควรเป็นเวลาใด
ปี 2556 เปิดเขา 60 วัน ช่วง 11 ก.พ. – 10 เม.ย. ในปี 2557 นี้ ช่วงเปิดเขาคือ 1 ก.พ. – 31 มี.ค. 2557 เป็นครั้งแรกที่รตจิตรขึ้นไปเขาคิชฌกูฏ โดยไปทัวร์ขสมก. ในวันอาทิตย์ที่ 9 มี.ค. ราคา 499 บาท แต่ถ้าเก้าอี้เสริม 300 บาท หากไม่จำเป็นอย่านั่งเก้าอี้เสริมนะจ๊ะ เพราะปวดหลังมาก ๆ และไม่ค่อยมั่นคงด้วย นัดรับพวกเราบางส่วนด้านตรงข้ามขนส่งสายใต้ใหม่ เวลา 6.20 น. เพราะรถขสมก. นัดคนอื่นไปขึ้นที่อู่เขต 6 ถนนพุทธมณฑลสาย 2 เวลา 6.00 น. เวลามารับจริง 7.20 น. ถึงวัดกะทิง 13.30 น. จากกรุงเทพถึงวัดกะทิง ใช้เวลา 4 ช.ม.เต็ม ๆ แต่วันนี้มีการแวะที่อื่นก่อน 2 ช.ม. คือ แวะรับประทานข้าวเช้า 1 ช.ม. แวะทำบุญที่วัดเขาซก 1 ช.ม. รวมทั้งสิ้น 2 ช.ม.
หลวงพ่อเขียน หรือ ท่านพ่อเขียน หรือ พระครูธรรมสรคุณ ได้ฝากไว้
ท่าน มรรคทายก ที่วัดกะทิง เป็นคนที่เก่งมาก ๆ และสามารถพูดออกไมโครโฟนได้ตลอด เธอเตือนตลอดให้คนเก็บทรัพย์สินให้ดี เพราะมีแต่เสีย กับ หาย เก็บทั้งกระเป๋า และโทรศัพท์มือถือให้ดี เพราะบางวัน ทางวัดเก็บได้เป็นเข่ง แต่ใช้การไม่ได้แล้ว เพราะแตกกระจายจากรถขึ้นลงเขาทับแตกหมด นอกจากนี้ท่านยังเล่าให้ฟัง เกี่ยวกับการลบหลู่ หรือไม่เชื่อถือความศักดิ์สิทธิ์ของเขาคิชฌกูฏ ว่า ประมาณ 2 ปีก่อน มีผู้หญิงคนหนึ่งไม่ศรัทธา พอขึ้นบนเขา ก็พูดออกมาว่า “รู้อย่างนี้ สู้เล่นไพ่อยู่ที่บ้านดีกว่า” ปรากฏว่าขากลับลงเขา การขับรถโดยทั้วไป ฉวัดเฉวียงมาก ไม่มีใครเคยได้รับอันตรายหรือเกิดอุบัติเหตุใด ๆ แต่วันนั้น อยู่ ๆ ก็มีกิ่งไม้เกี่ยวเข้าไปในปากของเธอจนฉีกกว้าง ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาล เสียเงินไปกว่า 50,000 บาท เป็นต้น
หลวงพ่อเขียนได้ฝากคำพูดไว้ว่า ถ้าไม่เชื่อ ถ้าไม่ศรัทธา จะพูดว่ากล่าวอะไร ก็ให้พูดไว้เสียแต่ข้างล่าง ไม่ต้องนำคำพูดไปพูดข้างบนเขา
เวลาที่ดีที่สุดในการขึ้นเขาคิชฌกูฏ
ตามความเห็นส่วนตัวของรตจิตร ถ้าต้องใช้เวลาเดินทาง 3 ช.ม. รอรถตามคิวอีกประมาณ 1.5 – 3 ช.ม. ควรกะให้สามารถขึ้นเขาตอน 6 โมงเช้าได้เพราะสว่างพอ และไม่ร้อน การเดินทางไม่อันตราย ถ่ายภาพได้ แม้ว่าบนเขาคิชฌกูฏจะมีไฟเปิดไว้ตลอดก็ตาม หากขึ้นเขาช่วงเช้ามืดกว่านี้ จะมีหมอกเพราะอากาศชื้นตอนกลางคืน และเริ่มร้อนขึ้นตอนเช้า ทำให้ถ่ายรูปไม่ชัดเลย เนื่องจากทางขึ้นมี 2 ทางคือ
– ทางขึ้นวัดกะทิง ที่วัดสะดวก และมีโรงทาน ไม่ต้องหากินยิ่งยาก รตจิตรขอแต่ให้ช่วยทำบุญที่โรงทานด้วยก็แล้วกัน แต่รถน้อยกว่าทางวัดพลวง วันอาทิตย์ที่ 9 มี.ค. วันที่รตจิตรไปเขานั้น มีรถประมาณ 70 คัน ทำให้อาจต้องรอรถนานถึง 2-3 ช.ม. อย่างไรก็ตามวันนั้นที่รตจิตรไปค่อนข้างโชคดี เพราะไม่มีแดด แต่ก็ไม่มีลม ทำให้สูญเสียเหงื่อมาก รตจิตรจึงอยากบอกเพื่อน ๆ ว่า ถ้าพกน้ำขวดเล็ก ๆ ไว้คอยจิบก็ดีนะ แต่ด้านบนก็มีน้ำและของกินขายมากมาย อาหารที่ยอดนิยมที่มีขายทุกจุดคือ บะหมี่กึ่งสำเร็จที่ทานกันอย่างแพร่หลาย เพราะแค่เติมน้ำร้อนจริง ๆ
– ทางขึ้นวัดพลวง วันนั้นมีรถด้านนี้ 100 คัน ทำให้การรอรถ 1-2 ชั่วโมง เพื่อนของรตจิตรไปวันเดียวกัน แต่ไปกับรถตู้ ก็ตรงดิ่งขึ้นไปที่วัดพลวงเพื่อให้เพื่อนไปเข้าแถวเอาบัตรคิวขึ้นรถกระบะ เนื่องจากเธอออกรถตอน 5 ทุ่ม เที่ยงคืน จึงถึงเขาตอนตี 2 รอรถขึ้นเขาประมาณ 1 ชั่วโมงเอง แต่ถ่ายรูปไม่ค่อยได้เพราะบรรยากาศมีแต่หมอก
ตอนนี้มาดูเวลาที่รตจิตรไปเขาคิชฌกูฏ กับทัวร์ขสมก. กันดีกว่า
เช่นเคยค่ะ รตจิตรไปคันที่คุณสมศักดิ์ เจริญศรี เป็นคนขับ โดย ประชาสัมพันธ์คือคุณไพฑูรย์ สำราญ ซึ่งวิ่งเป็น PR ทั้ง 3 คัน รวม ๆ ประมาณ 118 คน ทำให้แต่ละคันค่อนข้างแออัด แต่ก็ถือว่าบรรยากาศยังสบาย ๆ ครั้งนี้หลังจากไม่ได้ไปทัวร์ขสมก. เกือบ 3 ปี ทุกคนดูดีขึ้นหมด นอกจากรตจิตรจะประทับใจทั้งคุณสมศักดิ์ และคุณไพฑูรย์ แล้ว ต้องขอยกนิ้วให้คุณน้ำฝน หรือคุณฝน หรือชื่อจริงคือ มนันยา ฉ่ำโพชง พนักงานขสมก. ดี ๆ ก็ต้องชมกันหน่อย เธอเป็นผู้หญิงคนเดียวในทีมงานทริปนี้ เพราะนอกจากจะคล่องมาก ยังเป็นคนที่ช่วยเคลียร์เรื่องรถที่พวกเราต้องอาศัยขึ้นลงเขา เป็นงานเหนื่อย และอาศัยวิทยายุทธด้านมนุษยสัมพันธ์อย่างมาก ไม่ว่ากับพวกลูกทัวร์ขสมก. แล้ว ยังมีพวกคนจัดรถ และคนที่ไปกรุ๊ปอื่น ๆ อีกจำนวนมากมายนับไม่ถ้วน
ระยะทางไปกลับ มากกว่า 600 ก.ม. PR ของขสมก. ก็เล่นเกมและคุยโน่นนี่นั่น เช่นบอกขั้นตอนการขึ้นเขาคิชฌกูฏ เล่นทายคำถาม และรับรางวัลเป็นวัตถุมงคลของวัดต่าง ๆ ที่ทัวร์ขสมก. เคยไปมา รตจิตรก็ได้มา 2 ชิ้นคือ รูปหล่อหลวงปู่ทวดขนาดหน้าตักประมาณ 2 นิ้ว และผ้ายันต์พระสิวลี สมัยหลวงพ่อเขียน วัดกะทิงยังไม่มรณภาพ เพื่อถือติดตัวในการเดินทาง ปัจจุบันก็มีผ้ายันต์เช่นกัน โดยพระลูกศิษย์ของหลวงพ่อเขียน
ก่อนขึ้นเขาคิชฌกูฏ ขับไปได้ประมาณ 200 กว่าก.ม. คุณสมศักดิ์พาพวกลูกทัวร์ขสมก. ไปแวะชำระจิตใจให้สะอาด ด้วยการถวายผ้าไตรและสังฆทานที่วัดเขาซก ตำบลหนองปรือ จังหวัดชลบุรี ครั้งนี้ก็เหมือนทุกครั้งที่รตจิตรจะต้องเตรียมปัจจัยไปถวายสังฆทานเช่นเคย และที่ขาดไม่ได้คือฝากหนังสือการ์ตูนทักทาย 2-4 ภาษา ที่เจ้าอาวาสเพื่อให้ห้องสมุดของโรงเรียนวัดเขาซก อย่างน้อย 1-2 ชุด ประมาณ 8-10 เล่ม พระครูไพจิตรพัฒนทาส – เจ้าอาวาสวัดเขาซก ได้นิมนต์พระอีก 8 วัดมาร่วมรับสังฆทานจากพวกเราชาวขสมก. รวม 9 วัด ช่วงรอคนให้พร้อม ก่อนการถวาย รตจิตรได้สอบถามเจ้าอาวาสได้ความสั้น ๆ ว่า
ประวัติวัดเขาซก จังหวัดชลบุรี
วัดเขาซก ตั้งอยู่ที่ตำบลเขาซก อำเภอหนองใหญ่ จังหวัดชลบุรี อายุรวม 30 ปีเศษ แต่ได้ย้ายมาจากฝั่งตรงข้ามได้ราว 10 ปี เพราะวัดตั้งอยู่สุดเขตของจังหวัดก่อนเข้าเขตจังหวัดระยอง จึงเป็น Depot Temple คือเป็นวัดศูนย์กลางการกระจายปัจจัยให้แก่วัดวาอาราม ตลอดจนสำนักสงฆ์ต่าง ๆ ของจังหวัดชลบุรี ซึ่งรวมกันแล้วมีมากกว่า 360 แห่ง พระครูไพจิตรพัฒนทาสได้แสดงธรรมเล็ก ๆ น้อยแก่พวกเรา โดยสรุปได้ว่า บุญคือชื่อของความสุข ต้องสะสมจากการทำดีเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นการทำดีทางกาย วาจา และใจ การเจริญพุทธมนต์ในวันนี้ก็ถือว่าเป็นบุญทางวาจาแล้ว
สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำวัด
หลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด โดยมีพญางูสีขาวพันรอบรองรับฐานของหลวงปู่ทวด และมีรูปปั้นช้างคู่น่ารักมากถวายสักการะอยู่ด้านหน้าของวัด หลังจากเข้าประตูวัดมาได้เล็กน้อยก็เห็นได้อย่างชัดเจน
พระราหูอมจันทร์ ตั้งตระหง่านอยู่ด้านข้างของหลวงปู่ทวด โดยมีพญานาค 7 เศียร อยู่ด้านข้างทั้ง 2 ข้าง
ถึงแล้วจ้า เขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี
สิ่งที่ควรนำขึ้นไปบนเขาคิชฌกูฏ ด้วย ได้แก่
1. ของเพื่อสักการะบนเขา
ที่วัดกะทิงและบนเขามีปัจจัยทุกอย่าง แล้วแต่เราจะทำบุญตามศรัทธา เช่น
– ธูป (ไว้ไหว้ตามจุดที่เป็นลานศักดิ์สิทธิ์) โดยเพิ่มความพิเศษสำหรับคนเกิดปีชง ให้ใช้ธูปสี เทียนสีตามวันเกิด
ที่เขาคิชฌกูฏ มีวิธีการปักธูปที่ไม่เหมือนที่อื่น เพราะปักงอ โดยกดด้ามธูปไปจุดหนึ่งที่ก้อนหินให้มั่น แล้วโค้งธูปเพื่อดันไว้ที่หินอีกส่วนหนึ่ง การปักธูปอีกแบบหนึ่งคือแปะไว้กับก้อนหินที่เรียบ
– ดอกดาวเรือง (นอกจากไว้โปรยสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์แล้ว ยังนิยมโปรยตามทาง มีขายที่ลานพระสิวลี)
– ผ้าหลากสี (ชมพู เขียว เหลือง ฟ้า และแดง)
– ผ้าแดง (ไว้ผูกฝากไว้ที่ลานผ้าแดง ซึ่งเป็นจุดที่สูงที่สุดของเขาคิชฌกูฎ เสมือนได้ฝากไว้ที่กับเทวดา)
– แผ่นทอง (เขียนชื่อ อายุ วันเดือนปีเกิด เพื่อฝากไว้ที่ลานพระสิวลี แต่บางคนก็ไว้ที่รอยพระพุทธบาท) และ
– พลอย 7 สี (ไว้ที่รอยพระพุทธบาท ให้ติดพื้น เพื่อให้ดวงดี ทั้ง 7 วัน)
– ทำบุญทราย (เพราะถือว่าช่วยให้ผู้ทำมีบุญหนัก บุญแน่น)
2. ของใช้ส่วนตัวที่ควรนำติดตัวขึ้นไปด้วย
ที่วัดกะทิงก็มีร้านค้าที่มีทุกอย่างเช่นกัน รตจิตรอยากให้เพื่อน ๆ เอาเฉพาะที่จำเป็น เพราะพยายามให้ตัวเบาดีที่สุด เช่น พัด (มีแล้วช่วยได้มาก เพราะระหว่างทางที่เดินขึ้นเขาไม่มีลมจริง ๆ มีแต่เหงื่อ) ขวดน้ำเล็ก ๆ สำหรับจิบแก้กระหายก็พอ กระดาษทิชชู่ (ระหว่างทางมีห้องน้ำเป็นระยะ ๆ ) ผ้าปิดจมูก ส่วนหมวก หรือร่ม ไม่ค่อยได้ใช้เพราะยิ่งใส่ยิ่งร้อน และตามทางเดินก็มีต้นไม้ มีเขาบังแดดให้คนที่เดินขึ้นเขาอยู่แล้ว
3. หลวงพ่อเขียน ขนฺธสโร (พระครูธรรมสรคุณ)
300 กว่ากิโลจากกรุงเทพ ถึงวัดกะทิง รตจิตรมาที่วัดนี้เป็นครั้งที่ 2 โดยครั้งแรกรตจิตรมาตอนที่หลวงปู่เขียนเพิ่งมรณภาพไปได้ไม่ถึงเดือน และก็ยังไม่ค่อยมีความรู้เกี่ยวกับวัดกะทิง เกี่ยวกับท่าน และเขาคิชฌกูฏเท่าไรนัก ครั้งนี้เป็นช่วงที่กำลังจะมีการทำบุญสร้าง มณฑปเก็บสรีระสังขาร ของหลวงพ่อเขียน เพื่อนที่ไปเล่าให้รตจิตรฟังว่าก่อนมาที่เขาคิชฌกูฏ ได้ซื้อหนังสือเรื่องเขาคิชฌกูฏ มีอยู่ตอนหนึ่งเล่าว่า หลวงพ่อเขียนเหมือนเทวดา เพราะท่านสามารถกำหนดการเดินทางได้ เช่น มีคนเห็นว่าท่านสามารถเดินทางโดยย่นระยะทางได้ ประเดี๋ยวเดียวก็ถึงยอดเขา เป็นต้น
รตจิตรเข้าไปถวายสักการะพระศพของท่าน ในศาลา มีคนอยู่ 4 กลุ่มคือพวกที่สักการะหลวงพ่อเขียนแล้ว แต่นั่ง ๆ นอน ๆ รอขึ้นเขา ชาวบ้านที่ช่วยกันตระเตรียมเครื่องถวายสักการะ ได้แก่พานกรวย และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ให้เมื่อทำบุญ และพระเครื่องเมื่อเช่า ได้แก่ ผ้ายันต์พระสิวลี พระ และ รูป หรือของแกะสลักเขาคิชฌกูฏ พวกที่จัดของหรือของขลังแจกผู้คนที่ไปวันนั้น และพวกเราลูกทัวร์ ขสมก.
ด้านขวาของศาลาวัดกะทิงเป็นโบสถ์ ข้างขวาเป็นที่พักแรมของคนที่ต้องการขึ้นเขา และขวาถัดออกไปเป็นโรงทาน อาหารมีตลอดในช่วง 60 วันที่เปิดเขา ยังมีที่พักแรมด้านบนอีกแห่งบริเวณที่พวกเราจะไปอธิษฐานขอพรที่รอยพระพุทธบาท
4. การเดินทางขึ้นเขาคิชฌกูฏ
เขาคิชฌกูฏ ถือเป็นเขาที่สูงที่สุดในประเทศไทย ดังนั้นการขึ้นเขาไปขอพร เหมือนกับเราได้ขอจากเทวดาแล้ว เพราะอยู่ที่สูง
ปกติวันธรรมดาคนน้อย เสาร์อาทิตย์คนมากเป็นเรื่องธรรมดา พอไปถึงวัด ต้องเข้าคิวรับคิวขึ้นรถกระบะ ประมาณ 3 ชั่วโมง รถกระบะเป็นรถประเภทขับเคลื่อน 4 ล้อ เพราะเขาสูงชัน ต้องอาศัย Slow gear ส่วนมากจะเป็น Space cap เพื่อให้คนสามารถนั่งด้านหลังคนขับได้ 4 คน และนั่งข้างคนขับได้อีกคน นั่งด้านหลังอีก 2 แถว ๆ ละ 4 คน เพราะต้องเผื่อการเหวี่ยงไว้ด้วย แต่คันของรตจิตร นั่งกัน 9 คน ก็ดีนะ เพราะด้านที่รตจิตรนั่ง 5 คน ทำให้ค่อนข้างแน่น ไม่ค่อยเลื่อนไถลออกจากที่นั่ง การนั่งด้านหลังแม้จะไม่สบายเท่าไรนัก แต่ได้บรรยากาศของ คำว่า “เหวี่ยง” เพราะเธอจะขับเร็วมาก หากหยุดหรือช้าจะทำให้รถทั้งหมดเสียกระบวน เสียกระบวนที่เขาทันที บางคันก็ขับจี้ก้นคันแรกเพื่อทำเวลากันน่าดู ช่วงที่เหวี่ยงมาก ๆ คืออช่วงโค้งที่มองเห็นกัน ส่วนโค้งที่ไม่เห็น จะใช้วิธีขับชิดขวา ซึ่งเป็นที่รู้กันทั้งรถขาขึ้น และขาลง ว่าช่วงไหนต้องขับชิดขวา ช่วงโค้งใดที่ต้องขับชิดซ้ายตามปกติ ทุกคนขับรถกันเก่งมาก วิ่งเปลี่ยนเลนกันอย่างคล่องแคล่ว คนนั่งท้ายต้องจับราวกระบะให้แน่น เพราะเหวี่ยงกันสุดฤทธิ์ ทางวัดกะทิงจึงจัดคิวรถเองตั้งแต่ปี 2556
รถกระบะที่ขึ้นเขา ราคา 200 บาท มี 2 แบบ ใช้เวลาขึ้นไปถึงลานพระสิวลี 40 นาที แต่ขาลงใช้เวลาเพียง 20 นาที คนขับแต่ละคน ทำงาน 8 ชั่วโมง และขับวันละ 3-4 เที่ยวขึ้นลง มีจุดลงรถ 2 แบบคือ
1. จุดลงรถด้านวัดพลวง
มีรถให้บริการ 100 คัน รถจอดรับส่ง 4 จุด ขึ้นลงเที่ยวละ 2 จุด คือจากวัดกะทิงถึงวัดพลวง และจากวัดพลวงไปลานพระสิวลี ณ วัดพลวงจะมีซุ้มประตูบอกว่า บารมีหลวงปู่นัง คุ้มครอง และเป็นตลาดใหญ่เหมือนกัน
2. จุดลงรถด้านวัดกะทิง
รถจอดรับส่ง 2 จุด มีรถให้บริการ 70 คัน จากวัดกะทิงถึงลานพระสิวลี
วันอาทิตย์ที่ 9 มี.ค. 2557 ที่รตจิตรไปที่เขา มีคนประมาณมากกว่า 150,000 คน จากการสอบถามเจ้าหน้าที่ด้านบนตรง ลานพระสิวลี ช่วงที่ไม่ใช้ฤดูการเปิดเขา ชาวบ้านเหล่านี้ก็ยังคงยึดอาชีพทำสวนเป็นส่วนมาก เพราะพื้นที่จังหวัดจันทบุรีเป็นสวนผลไม้เสียส่วนมาก
นอกจากนี้ยังมีการนั่งเสลี่ยงหลังจากลงรถที่บริเวณลานพระสิวลี ในราคา 800 บาท โดยมีคนแบก 2 คน ไม่เหมือนที่พระธาตุอินทร์แขวน ประเทศพม่า ซึ่งใช้คนแบกถึง 4 คน การแบกขาลงก็ไม่ได้วิ่งลงจนคนโดยสารจุกไปทั่วท้อง และมีการรับจ้างแบกของสำหรับผู้ที่ต้องการขึ้นไปค้างแรมด้านบน บริเวณรอยพระพุทธบาทอีกด้วย
สรุปจุดที่สวย จุดที่พักสักการะ
1. วัดกะทิง และวัดพลวง
2. เขื่อนวัดพลวง มีคนขับรถไปจอดดูวิว และรับลม
3. ลานพระสิวลี ซึ่งมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์หลายสิ่งด้วย
4. ลานขายของ
5. ประตูสวรรค์
6. ลานพระเจ้าตากสิน
7. รอยพระพุทธบาท มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่น ๆ อีก มากมายบริเวณรอบ ๆลาน
8. สูงสุดยอดดอย ลานพระอินทร์ และบาตรพระอานนท์ เป็นจุดที่รตจิตรเอาผ้าแดงที่เขียนชื่อเราไปผูกไว้ ณ บริเวณช่วงนี้จะเห็นคนเริ่มผูกผ้าแดงเต็มไปหมด เพราะไปไม่ถึงลานผ้าแดง แม้ว่าจะต้องเดินทางอีกแค่ 820 ม. เอง
การปักธูป
นอกจากนี้ตรงบริเวณลานพระอินทร์ ยังมีป้ายบอกว่าสถานที่ต่าง ๆ บนเขาคิชฌกูฏ พร้อมระยะทางได้แก่
พระบรมสารีริกธาตุ 8 ม., ลานพระอินทร์ ท้าวสักกะ เทวราชพระอินทร์ และพระพรหม 27 ม., แก้วสารพัดนึก 59 ม., บาตรพระอานนท์ 399 ม., บาตรพระสิวลี 525 ม., เจ้าแม่ตะเคียน ประตูไอสวรรค์ 746 ม., บาตรพระโมคคัลลานะ 772 ม., พระมหาเจดีย์ 778 ม., เสมาธรรมจัก 785 ม., พญานาคา 797 ม., บาตรพระสารีบุตร 814 ม., และลานผ้าแดง 820 ม.,
เวลาโดยสรุปคร่าว ๆ ในการขึ้นเขาคิชฌกูฏ กับทัวร์ ขสมก. รตจิตรได้ขึ้นรถกระบะตรงวัดกะทิงเวลา 14.00 น.
14.00 – 14.40 น
เดินทางถึงลานพระสิวลี มีดอกดาวเรือง และชุดไหว้ขายเป็นจำนวนมาก ดอกดาวเรืองถุงเล็ก 50 บาท ถุงใหญ่ 100 – 130 บาท บางคนต้องซื้อไม่เท้าเพื่อช่วยในการเดินขึ้นเขาด้วย ตลอดทางมีระฆังให้พวกเราเคาะ ไม่ให้ตีแรง ไม่ให้ผลักระฆัง ส่วนมาผู้คนจึงใช้เหรียญบาทเคาะ บางจุดนอกจากไม่ให้ตีแล้ว ยังให้ลูกเบา ๆ และเขียนไว้ว่า “เจ๊บจ๊ะ” นอกจากนี้ยังมีเชือกให้คอยจับกัน ซึ่งเด็ก มักจะไปนั่งเล่นเป็นชิงช้า
เชือก+เด็ก
15.00 – 16.30 น.
ขึ้นเขาถึงจุดสูงสุดยอดดอย หรืออีก 820 ถึงลานผ้าแดง ที่บริเวณนี้ คนมักเหนื่อย เมื่อยล้า จึงมีการเขียนป้ายไว้มากมาย เช่น “ผมเห็นคนเดินช้า แต่ผมไม่เคยเดินถอยหลัง” รตจิตรเป็น 1 ในคนเหล่านี้ที่เดินไม่ไหวแล้ว เพราะต้องเผื่อเรื่องเหนื่อยขาลงเขาด้วย จึงผูกผ้าแดงไว้ตรงบริเวณนี้ และเดินทางกลับมาที่ลานพระสิวลีเพื่อรอรถกลับ คราวนี้แหละที่น้ำและของกินขายดิบ ขายดี เพราะหิวและกระหาย บางคนถึงกับเป็นลม ขนมปังไอศกรีมขายดีที่สุด พ่อค้าบอกว่า วันเสาร์ขายไอศครีมได้ 6 ถัง วันนี้ 7 ถังแล้ว และยังไม่วี่แววว่าคนจะเริ่มหมดแล้ว
18.00 – 18.20 น.
รอรถเกือบชั่วโมงเพื่อลงเขา โชคดีที่รอไม่นาน แต่กว่า ขสมก. ปอ. 79 จะออกจากวัดกะทิง ราว 21.45 น. เพราะเพื่อน ๆ อีกกลุ่มหนึ่งรอรถขาขึ้นนานมาก เพิ่งถึงข้างบนเขาตอนที่พวกรตจิตรลงมาถึงลานพระสิวลีแล้ว ทำให้พอรตจิตรลงจากเขาแล้ว พวกเราต้องรอกลุ่มเพื่อน ๆ กลุ่มนี้อยู่ข้างล่างถึง 3 ช.ม. โรงทานวัดกะทิงยังมีอาหารให้ญาติโยมทาน
21.45 – 02.15 น.
ถึงขนส่งสายใต้ใหม่ รวมเวลาให้ซื้อของฝากประมาณ ครึ่งช.ม. (สละ อร่อยมาก กิโลกรัมละ 80 บาท ขนมเกรียวก็อร่อย รสชาติเหมือนครองแครงกรอบ แต่ไม่แข็ง เผ็ดๆ เล็กน้อย มะปราง และ มะยมชิดก็งามมาก)
เป็นอันว่าสิ้นสุดการเดินทางการไปเขาคิชฌกูฏด้วยความประทับใจ อย่างไรก็ตามหากมีเวลา ไหน ๆ ไปจันทบุรีทั้งที นอกจากจะแวะทำบุญที่วัดเขาซก จังหวัดชลบุรี ที่จันทบุรี เพื่อน ๆ สามารถแวะทำบุญที่วัดเขาสุกริมได้นะจ๊ะ รตจิตรเคยไปหลายครั้งแล้ว หากเพื่อน ๆ ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมก็ search จาก website นี้ได้เลย sw-eden.net หรือ (https://swedenofficial.wordpress.com)