Ceremony of presenting yellow to the Buddhist monks at the end of the Buddhist Lent
สรุปโดย ©รตจิตร
Concluded by Ratajit | October 27, 2015
**งานเขียนนี้ของรตจิตร ถือเป็นวิทยาทานเพื่อให้ทุกคนได้อ่าน โดยห้ามมิให้คัดลอกนำไปใช้เพื่อการค้าหรือนำไปใช้ในเว็บไซต์อื่น โดยเฉพาะเว็บไซต์ที่มีโฆษณา ไม่ว่ากรณีใด ๆ ทั้งนี้อนุญาตให้นำไปใช้ในสถาบันการศึกษา โดยต้องอ้างอิงแหล่งที่มาและชื่อผู้เขียน และหากรตจิตร เขียนสรุปผิดพลาดในความหมายโดยไม่ได้มีเจตนา ก็ขอผู้อ่านให้อภัย ณ โอกาสนี้ บุญกุศลที่รตจิตรตั้งใจเขียนสรุปนี้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่เพื่อน ๆ ขออุทิศส่วนกุศลให้แก่ Jordison หรือไอขิง หรือ ไอหมา ซึ่งเป็นสุนัขที่ครอบครัวของ รตจิตร รักมากที่สุด และความรัก ความคิดถึงจะมีอยู่ตลอดไปไม่มีวันจางหาย แม้ว่า Jordison จะเสียชีวิตตั้งแต่วันศุกร์ที่ 23 ตุลาคม 2558 เวลา 4.20 น.s
ผู้บรรยายธรรม : ท่านพระมหากิตติศักดิ์ โคตม สิสฺโส มาจากวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์ ท่าเตียน) คณะ น.20
วันและสถานที่ : วันเสาร์ที่ 24 ตุลาคม 2558 ณ ชมรม แมสบุญรักษา มูลนิธิชาวพุทธพาต้า
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต, อะระหะโต, สัมมาสัมพุทธัสสะ ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์นั้น ซึ่งเป็นผู้ไกลจากกิเลส เป็นผู้ตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง โดยชอบ (กราบ)
ท่านพระมหากิตติศักดิ์ เกริ่นเกี่ยวกับเรื่อง อาบัติ ของพระสงฆ์ ว่า มีข้อยกเว้นตามการดำรงชีวิตจริงในปัจจุบัน ยกตัวอย่างเช่น
1. ห้ามวิ่ง
ปกติห้ามพระวิ่ง แต่ก็มีข้อยกเว้น ได้แก่ กรณีเจ็บป่วย เรื่องคอขาดบาดตาย เป็นต้น
2. ห้ามเดินจงกรม
ทางทางปฏิบัติของพระสงฆ์ การเดินจงกรม ถือเป็นเรื่องปกติ ยกเว้นบางขณะ ได้แก่ การข้ามถนน จะมัวแต่มาย่างขวาหนอ ย่างซ้ายหนอไม่ได้
ก่อนที่ท่านพระมหากิตติศักดิ์ จะเริ่มเรื่องที่มาของกฐิน ท่านได้เตือนสติ ผู้ปฏิบัติกรรมฐานบางคนที่ไม่ได้ฝึกจิต แต่ใช้วิธีฝึกสติอยู่กับลมหายใจ จนกลายเป็นคนเซื่องซึม คนเฉื่อยชา นี้ถือว่าไม่ได้มีสติ
ที่มาของ กฐิน
รตจิตรสรุปธรรมที่ฟังในวันนั้น แบบง่าย ๆ โดยเริ่มจากที่มาของคำว่า กฐิน และที่มาของการทอดกฐิน ซึ่งเป็นภาษาบาลี มาจาก ไม้กฐิน หรือสะดึงในสมัยโบราณ เนื่องจากในอดีต คนทั่วไปจะไม่รู้ว่าพระสงฆ์ต้องการใช้อะไรบ้าง พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสแก่สงฆ์ทั้งหลายว่า เราไม่ได้รักสวยรักงาม แต่เรามีสบงจีวรไว้เพื่อปกปิดร่างกาย พระสงฆ์จึงไปเก็บผ้ามี่ชาวบ้านทิ้ง ๆ เอามาตัดเย็บ แต่ไม่เรียบร้อย และไม่เป็นแบบสบงจีวรที่ดีเท่าที่ควร เมื่อพระอานนท์ขึ้นไปที่สูง มองลงมาด้านล่างซึ่งเป็นที่ท้องนา แคว้นมคธ พระอานนท์ จึงเกิดความคิดเอาไม้มาวางเป็นแบบท้องนาบนผ้าที่พระสงฆ์เก็บมา พระอานนท์เอาผ้าทาบลงไปบนไม้แบบนั้น เพราะผ้าที่เก็บมามีหลายขนาด
ไม้นี้เรียกว่าไม้กฐิน เป็นไม้แบบเพื่อตัดจีวร โดย การทาบผ้าลงบนไม้กฐิน ก็เสมือนการทอดผ้าลงไม้กฐิน จึงเป็นที่มาของ การทาบกฐิน หรือการทอดกฐิน นั่นเอง
จะเห็นว่า การทอดกฐิน ในอดีต เป็นเรื่องของพระสงฆ์ทำเองทั้งหมด จนถึงสมัยของนางวิสาขา ซึ่งเป็นอุบาสิกา “ผู้ให้” ถวายพระสงฆ์มาตลอด เช่นเดียวกับ อนาถปิณฑิกเศรษฐี ที่เป็นอุบาสก “ผู้ให้” จัดหาสบงจีวรถวายพระสงฆ์ ตั้งแต่นั้นมาพระสงฆ์จึงไม่ต้องไปหาผ้าช่วงออกพรรษา
ที่มา ของวัดโพธิ์
Wat Phra Chettuphon Wimon Mangkhlaram Ratchaworamahawihan or Wat Pho
เวลาผ่านไปนานเข้า ๆ ญาติโยมก็เริ่มดูว่าพระสงฆ์จำเป็นต้องใช้ปัจจัยอะไรบ้าง แล้วก็จัดโน่น จัดนี่ให้เป็นปัจจัยเพิ่มเติมตอนถวายท่าน อย่างไรก็ตาม การทอดกฐินต้องมีจีวร ถือว่า เป็นกาทอดกฐินหลัก นอกจากนี้ ในอดีต พระสงฆ์ยังอาศัยอยู่ตามป่าบ้าง ตามถ้ำบ้าง อาศัยร่วมอยู่กับพวกคนจร หมอนหมิ่น พระเจ้าแผ่นดินทรงเป็นผู้สร้างวัด ให้เป็นที่อยู่อาศัยของพระสงฆ์ เช่น พระเจ้าพิมพิสาร สำหรับประเทศไทย ได้แก่วัดต่าง ๆ ดังนี้
วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เป็นวัดประจำรัชกาลที่ 1
วัดอรุณราชวราราม เป็นวัดประจำรัชกาลที่ 2
วัดราชโอรสาราม เป็นวัดประจำรัชกาลที่ 3
วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม เป็นวัดประจำรัชกาลที่ 4
วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เป็นวัดประจำรัชกาลที่ 5, รัชกาลที่ 7
วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นวัดประจำรัชกาลที่ 6
วัดสุทัศนเทพวราราม เป็นวัดประจำรัชกาลที่ 8
วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก เป็นวัดประจำรัชกาลที่ 9
สำหรับวัดโพธิ์ หรือวัดเชตุพน ฯ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 เป็นผู้สร้างวัดโพธิ์ มีรูปปั้นฤาษีดัดตนเพื่อแก้โรคภัยไข้เจ็บถึง 80 ท่า และในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ได้ทรงมีพระราชประสงค์ให้วัดโพธิ์เป็นแหล่งความรู้ของประชาชน จึงโปรดเกล้าทำศิลาติดที่วัดโพธิ์ เพื่อจารึกความรู้เกี่ยวกับการรักษาโรคต่าง ๆ โดย
1. จากหมอหลวงที่ รัชกาลที่ 3 ทรงทราบอยู่แล้วว่าผู้ใดมีความรู้ความสามารถรักษาโรคได้หาย
2. จากหมอชาวบ้าน ที่รัชกาลที่ 3 ทรงประกาศหาเพื่อให้ได้หมอชาวบ้านที่มีความสามารถ เป็นต้น
ที่มาของการใส่บาตรตอนเช้า
หัวข้อนี้ รตจิตรขอแทรกเกี่ยวกับการใส่บาตรตอนเช้าสักนิดนะจ๊ะ การรับบาตรของพระภิกษุสงฆ์ในอดีต จะใช้วิธี รับของเหลือ ๆ ใส่บาตร ขนชาวบ้านเห็นว่า พระสงฆ์เหล่านี้ล้วนแต่เป็นอริยบุคคล ไม่สมควรฉันอาหารเช่นนี้ จึงเกิดการใส่บาตร
ท่านพระมหากิตติศักดิ์ ได้ยกคำพูดของพระพุทธเจ้าว่า ขอให้พระภิกษุทำตนดั่งเช่นแมลงภู่ที่ดอมดมเกสรดอกไม้ เพื่อนำไปที่รัง พอบินผละไป ก็มิได้ทำลายดอกไม้เลย ดังนั้น เพื่อไม่ให้พระสงฆ์เบียดเบียนชาวบ้าน จึงต้องรับบาตรช่วงเช้า โดยชาวบ้านจะแบ่งอาหารของตนในวันนั้นออกมาก่อน เพื่อใส่บาตร