วัดละหาร ศีล 5 และ กัมมวรรค กฎแห่งกรรม

The Buddhist 5 precepts and the Consequences of Wrong-Doing

สรุปโดย ©รตจิตร
Concluded by Ratajit | December 22, 2015

**งานเขียนนี้ของรตจิตร ถือเป็นวิทยาทานเพื่อให้ทุกคนได้อ่าน ห้ามมิให้คัดลอกนำไปใช้เพื่อการค้าหรือนำไปใช้ในเว็บไซต์อื่น โดยเฉพาะเว็บไซต์ที่มีโฆษณา ไม่ว่ากรณีใด ๆ ทั้งนี้อนุญาตให้นำไปใช้ในสถาบันการศึกษา โดยต้องอ้างอิงแหล่งที่มาและชื่อผู้เขียน และกรณีที่เขียนสรุปผิดพลาดในความหมายโดยไม่ได้มีเจตนา รตจิตร ต้องขอโทษด้วย

ผู้บรรยายธรรม : ท่านพระครูสิริธรรมภาณ เจ้าอาวาสวัดละหาร ต.โสนลอย อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี
วันและสถานที่ : วันเสาร์ที่ 19 ธันวาคม 2558 ณ ชมรม แมสบุญรักษา มูลนิธิชาวพุทธพาต้า

วันนี้ รตจิตรได้ฟังการแสดงธรรมที่สนุกสนาน เรียกเสียงฮาได้ตลอดจากญาติโยมที่เข้าฟังการแสดงธรรมบรรยายโดยท่านพระครูสิริธรรมภาณ ซึ่งท่านเรียกว่าเป็นการแสดงปาฐกถาหลายเรื่อง แต่ที่สำคัญที่ยกตัวอย่างและพูดคือเรื่องศีล 5 และเรื่องของกรรมเวร หรือกัมมวรรค เป็นหมวดหนึ่งในคำสอนของพระพุทธศาสนา ว่าด้วยกรรม คำบรรยายวันนี้ รตจิตร สรุปได้ 4 เรื่อง โดยจะสรุปข้ออื่น ๆ อย่างสั้นเพราะเนื้อหาหลัก ๆ เกี่ยวกับศีล 5 ซึ่งรตจิตรเคยเขียนไว้แล้ว ยกเว้นข้อ กัมมวรรค ซึ่งเป็นนิทาน จึงต้องร่ายยาว ดังนี้

พระครูสิริธรรมภาณ

เรื่องที่ 1. ศีล 5
ท่านพระครูสิริธรรมภาณ เล่าถึงข่าวคราวในบ้านเมืองเรา ซึ่งเกี่ยวข้องกับศีล 5 ทั้งสิ้นโดยเริ่มจากข่าวต่าง ๆ ซึ่งรตจิตร ได้หาเพิ่มเติมเพื่อความชัดเจนจาก google เพราะ รตจิตรคิดว่าเพื่อน ๆ ที่ฟังในห้องวันนั้น หลายคนก็ไม่ได้คิดว่าท่านพระครูฯ จะพูดข่าวทั้งหมดนี้เกี่ยวกับ ศีล 5 ดังนี้
ศีลข้อที่ 1 ปาณาติปาตา เวรมณี ห้ามฆ่าสัตว์
เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2558 กลุ่มวัยรุ่น 6 คนรุมทำร้ายหนุ่ม 19 ปีจนเสียชีวิต ที่กาญจนบุรี แต่ผิดตัว

ศีลข้อที่ 2 อทินนาทานา เวรมณี ห้ามลักทรัพย์
วันที่ 11 ธันวาคม 2558 ที่นนทบุรี คนร้ายขโมย ทีวีโซนี่ 55 นิ้ว, เครื่องบันทึกภาพกล้องวงจรปิด 1 เครื่อง…. ซึ่งกว่าเจ้าของจะหามาได้แทบแย่ อีกทั้งคนร้ายขโมยขึ้นรถมอเตอร์ไซด์ ท่านพระครูจึงสงสัยว่าผ่านด่านตำรวจมาหลาย ๆ ด่านได้อย่างไร

ศีลข้อที่ 3 กาเมสุ มิจฉาจารา เวรมณี ห้ามประพฤติผิดในกาม
ตัวอย่างในสังคมทุกวันนี้มีมาก รตจิตรของดไว้ ณ ที่นี้

ศีลข้อที่ 4 มุสาวาทา เวรมณี ห้ามพูดปด
ศีลข้อที่ 5 สุราเมรยมัชชปมาทัฏฐานา เวรมณี ห้ามดื่มสุราและของมึนเมา
ท่านพระครู ฯ ยกตัวอย่างคนที่ผิดศีลข้อที่ 4 และ 5 รวมกันเลย คือกรณีที่ชายคนหนึ่งดื่มจนเมา แล้วโกหกตำรวจว่าไม่เมา ตำรวจกำลังจะใช้เครื่องวัดปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดโดยวิธีเป่าลมหายใจ เผอิญเกิดอุบัติเหตุบริเวณใกล้เคียง ตำรวจจึงต้องไปเคลียร์จุดนั้นก่อน ชายคนนี้จึงขับรถหนีไปได้ แต่รุ่งเช้าตำรวจก็จับจนได้
ชายคนเมา : เมื่อคืนผมไม่เมา เห็นมั้ย มิเช่นนั้น ผมจะขับรถกลับบ้านได้หรือ
ตำรวจ : ถ้าไม่เมา มึงจะขับรถตำรวจนครบาลกลับบ้านรึ ให้ตำรวจตามแทบแย่

เรื่องที่ 2. ประเภทของบุญ มี 2 ประเภท จำง่าย ๆ คือ
(1) บุญต้นทุน
คือบุญที่ต้องทำด้วยตนเอง อย่าหวังน้ำบ่อหน้า หรือน้ำหน้าบ่อ ยิ่งทำมาก ตนเองยิ่งได้มาก
(2) บุญสมทบ
คือบุญที่ลูกหลานคิดถึง และทำให้ รอการกรวดน้ำให้ นั่นเอง ตั้งแต่โบราณกาลแล้วมีเรื่องเชื่อกันว่า วันโกณ วันพระ หรือวันสำคัญทางพุทธศาสนา ยมบาลจะปล่อยผีออกมา เป็นโอกาสให้ลูกหลานได้ทำบุญให้ แต่เมื่อทำบุญแล้ว กลับลืมกรวดน้ำ บุญก็กลับกลายเป็นไม่ถึงผู้ที่ลูกหลานตั้งใจทำให้ อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ รตจิตรต้องขอโทษท่านพระครู ฯ เพราะ รตจิตรไม่ได้ยึดมั่นเท่าไร แต่ก็พยายามกรวดน้ำทุกครั้ง ยกเว้นลืมจริง ๆ เพราะหลายครั้งที่ รตจิตร ทำบุญ ใส่บาตร ถวายสังฆทาน พระสงฆ์หลายรูป หลายวัดบอกว่า ขึ้นอยู่กับความตั้งใจ ที่ รตจิตร อธิษฐานตั้งแต่ต้นในขณะที่ทำบุญ ว่าต้องการอุทิศให้แก่ใคร

การทำบุญ_Lotus

เรื่องที่ 3. ลักษณะของ “สว” หรือผู้สูงวัย 3 ลักษณะ
รตจิตรคิดว่าข้อนี้ ท่านพอจ. พูดได้ขำ ๆ ดี คือ ตา 2 ชั้น, ฟัน 3 หน, คน 3 ขา หมายถึง
– ตา 2 ชั้น คือใส่แว่นตา 2 ชั้นนั่นเอง
– ฟัน 3 หน คือ ฟันน้ำนม ฟันแท้ และฟันปลอม
ท่านพระครูสิริธรรมภาณ เล่านิทานติดตลกให้ฟังว่า มีคนแก่ 2 คนคุยกัน ในร้านขายก๋วยเตี๋ยว โดยเริ่มจากขณะที่คนแก่คนที่ 1 นั่งกินก๋วยเตี๋ยว มีคนแก่อีกคนเดินเข้ามานั่งกินด้วย แต่กินแต่น้ำก๋วยเตี๋ยว คนแก่คนที่ 1 จึงถามว่า
คนแก่คนที่ 1: ทำไมไม่กินก๋วยเตี๋ยวด้วย
คนแก่คนที่ 2: ลืมเอาฟันปลอมมา
คนแก่คนที่ 1 ให้ยืมละกัน
คนแก่คนที่ 2 ลองอันสองอัน จนใช้ได้จึงสามารถกินก๋วยเตี๋ยวหมด
คนแก่คนที่ 2 ฉันคืนนะ
คนแก่คนที่ 1 ไม่ต้องคืนหรอก
คนแก่คนที่ 2 เป็นทันตแพทย์หรือ? จึงมีฟันปลอมหลายอัน
คนแก่คนที่ 1 เปล่า ฉันเป็นสัปเหร่อนะ

หมาในพระพุทธประวัติ

ก่อนที่ท่านพระครูสิริธรรมภาณ จะพูดถึงเรื่องกัมมวรรค ท่านตบท้ายเรื่อง “สว” ด้วยเรื่องจำนวนขาให้ฟังคือ เริ่มตั้งแต่ เด็ก วัยกลางคน และตอนชรา ดังนี้

ยามเช้าเจ้าสี่ขา คลานไปมาร้องไห้แง
เที่ยงวันกลับผันแปร เป็นสองขาน่าแปลกใจ
ครั้นถึงยามสายัณห์เย็น กลับแลเห็นสามขาได้ นี่คือตัวอะไร
รตจิตร คิดว่าเพื่อน ๆ ไม่ว่าหญิงหรือชายคงเดากันออกว่าท่านพระครู ฯ หมายถึงใคร หมายถึงอะไร

เรื่องที่ 4. กัมมวรรค
รักษาตัวกลัวกรรมอย่าทำชั่ว จะหมองมัวหม่นไหม้ไปเมืองผี
จงเลือกทำแต่กรรมที่ดีดี จะได้มีความสุขพ้นทุกข์ภัย

ท่านพระครูสิริธรรมภาณ ได้เริ่มบรรยายด้วยกลอนข้างต้น พอรตจิตร ไปค้นจาก websites ต่าง ๆ จึงพบว่าน่าจะแต่งโดยท่านพระโพธิญาณเถร (หลวงปู่ชา สุภัทโท) วัดหนองป่าพง จ.อุบลราชธานี

ทำบุญใส่บาตร

ใครทำกรรมอย่างไรย่อมได้รับผลอย่างนั้น คนอื่น ๆ เป็นเพียงเครื่องมือที่จะช่วยให้ผลของกรรมนั้นเกิดขึ้นเท่านั้น ถ้าเราไม่ได้ทำกรรมไว้ เหตุต่างๆ ที่เป็นผลของกรรมก็คงไม่มี ท่านพระครูสิริธรรมภาณ เล่าเรื่องภิกษุ 7 รูป ที่ต้องการเดินทางไปเฝ้าพระพุทธเจ้าที่เวฬุวันมหาวิหาร ซึ่งมีเรื่องราวมากมายดังนี้

ครั้งที่ 1

ภิกษุทั้ง 7 ผ่านหมู่บ้านหนึ่ง ก็ใกล้มืดแล้ว เจ้าของบ้านถวายปัจจัยเพื่อให้พระฉัน แล้วก็กรวดน้ำ จากนั้นเจ้าของบ้านได้จุดเตาถ่านให้ แต่เพราะไม่ได้จุดไฟด้วยไม้สะแก ซึ่งไฟจะแรงมาก กลับไปจุดไฟด้วยไม้ตะแบก ทำให้ถ่านแตก ไฟกระเด็นไปติดชายคา ติดเสมียนหม้อ (รตจิตร ก็เพิ่งรู้จักคำนี้ หมายถึงห่วงวงกลมไว้รองนั่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหมาะสำหรับพวกเป็นริดสีดวงทวาร) พอไฟลุก กาที่ตื่นแต่เช้า บินมาเป็นฝูง ไฟปลิวกระเด็นไปติดกาตัวหนึ่ง ลุกไหม้ ล่วงตกลงมาตาย

ครั้งที่ 2
จากนั้นภิกษุ ทั้ง 7 รูปก็เดินทางต่อเพื่อไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า และจำเป็นต้องค้างแรม พระภิกษุเจ้าที่ภิกษุทั้ง 7 ไปขอค้างไม่มีห้องว่างเลย จึงนิมนต์ไปพักในถ้ำก่อน วันนั้น อยู่ ๆ อากาศร้อนอบอ้าว เกิดพายุโหมกระหน่ำจนกิ่งไม้ และก้อนหินใหญ่มากตกลงมาปิดปากถ้ำพอดี เมื่อพระภิกษุที่อยู่ที่นั่นพร้อมทั้งชาวบ้านจะมาใส่บาตรตอนเช้า ก็ไม่สามารถทำอะไรได้ เพียงแต่เจาะหินให้เป็นช่องเพื่อให้ภิกษุสามารถดูดน้ำจากก้านมะละกออย่างยากลำบาก 6 วันผ่านไป เกิด After shock อีกครั้งทำให้มีก้อนหินใหญ่ตกลงมากระแทกก้อนหินที่ปิดปากถ้ำให้เปิดถ้ำได้พอดี พระภิกษุที่อยู่นอกถ้ำ จึงบอกกับภิกษุทั้งเจ็ดว่า เมื่อเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ควรถามแล้วว่าเหตุการณ์เหล่านี้ที่เกิดขึ้น เป็นกรรมเวรอะไรหนอ

ครั้งที่ 3
ความจริงเรื่องราวยาวกว่านี้ แต่ รตจิตร ขอสรุปสั้น ๆ ก่อนที่ภิกษุเหล่านี้จะถึงที่หมาย ยังต้องข้ามเรือไปอีกฝั่ง เจ้าของเรือใบ และเมีย ได้นิมนต์ให้ภิกษุทั้ง 7 รูปลงเรือ แต่เรือใบจะแล่นได้ก็ต้องอาศัยแรงลม เมื่อมาถึงกลางมหาสมุทร อยู่ ๆ ลมก็นิ่ง ไม่สามารถไปต่อได้ ภิกษุจึงใคร่ครวญกันดู และได้ข้อสรุปว่าน่าจะมีกาลากิณีอยู่ในเรือ จึงทำสลาก 9 ใบเพื่อเวียนกันจับ กี่ครั้ง ๆ สลากก็ตกอยู่ในมือของเมียเจ้าของเรือใบ แม้เจ้าของเรือใบและเมียจะพยายามอ้อนวอนเพื่อให้เมียอยู่ในเรือต่อ แต่เพื่อช่วยให้ทั้งหมดรอดชีวิต เจ้าของเรือจำต้องให้เมียลงจากเรือโดยเอาข้าวสารกรอกหม้อ และผูกเชือกคล้องคอเมียกับหูหม้อ เรือใบก็สามารถแล่นต่อได้ถึงฝั่ง

ตอนนี้ รตจิตร จะเขียนถึงที่มาของเหตุการณ์ในอดีตชาติของเรื่องราวที่เป็นกรรมติดตัวมาขอวงเรื่องราวต่าง ๆ ข้างต้น เมื่อภิกษุได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า และตรัสถาม จึงรู้ว่า

1. อีกาที่ถูกย่างจนตาย เนื่องจาก

ในอดีตชาติ อีกาเป็นชาวนา ที่เลี้ยงวัวตัวหนึ่งที่ดื้อมาก และบางครั้งถึงกับนอนเลย ชาวนาโกรธมาก วันหนึ่งชาวนาคนนี้โกรธจัด จึงเอาฟางมาให้กองล้อมวัวไว้ วัวก็ดีใจคิดว่าเอามาให้กิน แล้วชาวนาก็เผาวัวเสีย ชาวนาต้องเกิดเป็นอีกาถูกเผาถึง 500 ชาติเพื่อชดใช้กรรมที่ทำ

ตัวเหี้ย_พญามหาโพธา

2. ภิกษุทั้ง 7 รูปต้องทุกข์ทรมานในถ้ำ เนื่องจาก

เดิมภิกษุทั้ง 7 รูปเป็นเด็กเลี้ยงโคในเมืองพาราณสี ที่จะพาโคหมุนเวียนหาแหล่งหญ้ากิน แล้วก็กลับมาแหล่งเก่า เพราะหญ้าจะยาวพอดีกิน อยู่มาวันหนึ่งเด็กทั้ง 7 คน พบตัวพญามหาโพธา หรือตัวเหี้ย หรือตัวเงินตัวทอง จึงต้อนมันเพื่อจะจับ ตัวเงินตัวทองหนีเข้าไปในจอมปลวก ซึ่งมีช่องอยู่ 7 ช่อง เด็ก ๆ จึงปิดไว้หมดเหลือแค่ช่องเดียวให้ตัวเหี้ย เด็กลืมดูแลวัว จนวัวเหล่านั้นไปกินหญ้าของชาวบ้านจนมีเรื่อง พอเคลียร์จบ ก็นึกถึงตัวเงินตัวทอง จึงกลับไปดูที่จอมปลวก ตัวเงินตัวทองคลานออกมาด้วยสภาพฉันใด ก็ไม่ต่างจากภิกษุทั้ง 7 คนถูกขังและคลานออกจากถ้ำฉันนั้น ภิกษุทั้ง 7 คนต้องอดอาหารถึง 14 ชาติ

สุนัขในพระพุทธประวัติ

3. เมียเจ้าของเรือใบที่ถูกถ่วงน้ำเนื่องจาก

เมียคนนี้เดิมเป็นหญิงที่ทำบุญแต่ไม่เคยชวนใคร เกิดมาจึงไม่มีบริวาร ไม่มีลูก แต่อยากมีลูก ทำให้อยากเลี้ยงหมาชื่อ ไอแดง ซึ่งในอดีตเคยเป็นสามีนางนี่เอง นางเลี้ยงหมาเหมือนลูก แต่หมารักนางเหมือนเมีย ตามนางตลอดเวลาจนชาวบ้านนินทา นางห้ามเท่าไร ตีหมา และไม่ให้กินด้วย ไอแดงก็ยังตามตลอด นางกลัวคำนินทา จึงวางแผนเอาไอแดงไปข้างนอก พร้อมของกินอร่อย ๆ ไอแดงเป็นหมา หมาทั่วไปจะฉลาด และรู้ดีว่านางจะทำอะไรกับมัน แต่มันก็ยอม และยินดี ไอแดงกินไปร้องไห้ไป นางเอาเชือกผู้คอไอแดง และถ่วงกับหม้อที่ใส่ทรายจนเต็ม สุดท้ายไอแดงก็จมน้ำตาย
หากใครทำกรรมแล้ว ต้องชดใช้ถึง 500 ชาติเช่นนี้ ถ้ามีโอกาสถามพระ หรือหากมีพระสงฆ์เข้ามาอ่านบทความนี้ แล้วจะตอบข้อสงสัยต่าง ๆ รตจิตร คิดว่าจะเป็นประโยชน์อย่างสูง เพราะรตจิตรเห็นด้วยกับลูกสาว พอเธอฟังจบ เธอก็ยังแคลงใจว่า ถ้าการชดใช้ไม่มีวันจบสิ้น ก็จะทำให้มีคนที่ทำกรรมเพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ เพื่อให้คนที่ต้องชดใช้กรรมนั้นประสบเคราะห์กรรมที่ตนทำไว้ในอดีตชาติ แล้วเพื่อน ๆ คิดอย่างไร

สุนัขในพระพุทธประวัติ

Leave a comment

Filed under Everything_Okay

Leave a Reply ถาม หรือ แสดงความคิดเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.