พัดลม กับทาน หรือการให้ ในทางพระพุทธศาสนา
Giving to others is really important to the practice of Buddhism
สรุปโดย ©รตจิตร
Concluded by Ratajit | January 3, 2016
**งานเขียนนี้ของรตจิตร ถือเป็นวิทยาทานเพื่อให้ทุกคนได้อ่าน ห้ามมิให้คัดลอกนำไปใช้เพื่อการค้าหรือนำไปใช้ในเว็บไซต์อื่น โดยเฉพาะเว็บไซต์ที่มีโฆษณา ไม่ว่ากรณีใด ๆ ทั้งนี้อนุญาตให้นำไปใช้ในสถาบันการศึกษา โดยต้องอ้างอิงแหล่งที่มาและชื่อผู้เขียนด้วย
วัตถุประสงค์ของงานเขียนนี้ จากประสบการณ์สด ๆ ร้อน ๆ เผื่อให้ข้อคิดดี ๆ แก่เพื่อน ๆ เพื่อเริ่ม “เป็นผู้ให้” ในปีใหม่นี้ ไม่ว่าคุณจะอยู่ในสถานะไหน ไม่ว่าคุณจะมีตำแหน่งใด ไม่ใช่ว่าความคิดของคุณ หรือการกระทำของคุณจำเป็นต้องถูกต้องเสมอไป เช่น ในฐานะแม่ ในฐานะเจ้านาย ในฐานะหัวหน้า หรือเจ้าของบริษัท คุณอาจคิดผิด ทำผิด คือคุณไม่จำเป็นต้องเป็นฝ่ายถูกเสมอไป ลองมาดูเรื่องจริงที่เกิดกับ รตจิตรเอง เกี่ยวกับการให้ หรือทาน
ตอนสิ้นปี เพื่อน ๆ หลายคนจะมีงานฉลองส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ และโดยส่วนมากมีการนำของขวัญไปไว้กองกลางเพื่อร่วมกันจับฉลาก เช่นกัน ปีนี้ลูกของ รตจิตร จับได้ พัดลม มูลค่าประมาณ 300+ บาท ลูกเห็นว่าทางบ้านมีพัดลมอยู่แล้ว ในขณะที่พวกเราจะเห็น รปภ. ของหมู่บ้านต่างต้องหิ้วพัดลมของตัวเอง ไปที่ป้อมยามเป็นประจำทุกเย็น ช่วงเปลี่ยนเวรยาม เหมือนว่า พัดลมของใครของมัน ทำนองนี้ ลูกจึงอยากให้พัดลมตัวนี้ เป็นพัดลมส่วนกลางเพื่อใช้ที่ป้อมยาม แต่ครั้งแรก รตจิตรกลับพูดขัดออกไป เพราะไม่อยากให้ รตจิตรมีความคิดว่า ทำไม นิติบุคคลของหมู่บ้าน จึงไม่จัดการให้ กลับมาเป็นหน้าที่ของลูกบ้านต้องหาพัดลมให้ รตจิตรยังคิดอีกว่าให้พระสงฆ์ดีกว่าให้ยาม ทำนองนี้ นอกจากนี้ รตจิตรยังคิดเสียดายว่าจะเอาพัดลมที่เพิ่งจับสลากได้ไปใช้ที่คอนโด แทนตัวเก่าที่จะเสียดีกว่า แต่ความจริงแล้ว การให้พัดลมแก่ยามในวันนั้น กลับเติมเต็มความสุขให้พวกเราทุก ๆ วันที่เห็น
การให้ หรือทาน ในทางพระพุทธศาสนา อาจถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างความดี หมายถึง การให้ การแบ่ง การปัน เสียสละ โดยแบ่งทานออกเป็น 4 ประเภทคือ
1.อามิสทาน คือการให้วัตถุสิ่งของ
2.ธรรมทาน คือการให้สิ่งที่ไม่ใช่สิ่งของ เช่น การให้ธรรมะ และการให้กำลังใจ เป็นต้น
3.อภัยทาน คือการให้อภัย แก่ศัตรู หรือตนเอง
4.วิทยาทาน คือการให้ความรู้ทางโลก อย่างเช่นที่รตจิตรกำลังทำ คือการบทความเพื่อให้ความรู้แก่เพื่อน ๆ
องค์ประกอบของการให้ที่สมบูรณ์ หรือที่ได้บุญมากคือ
1. ของที่ให้ต้องบริสุทธิ์
2. เจตนาของการให้บริสุทธิ์ ไม่รู้สึกเสียดายสิ่งที่ให้ ตั้งแต่ก่อนให้ ขณะให้ และหลังให้
3.บุคคลบริสุทธิ์ คือให้กับผู้รับที่มีศีลธรรม ตัวผู้ให้เองก็ต้องมีศีลที่บริสุทธิ์
อย่างไรก็ตาม รตจิตรยังมีข้อกังขาอยู่ 1 เรื่องคือ จะเห็นว่าการให้พัดลม ถ้าได้ถวายแก่พระสงฆ์ที่มีศีลบริสุทธิ์ แต่พระสงฆ์กลับไม่ได้ใช้ประโยชน์เท่าที่ควร เพราะพระสงฆ์หลายรูปอาจมีพัดลมอยู่แล้ว หรืออาจนั่งปฏิบัติธรรมอยู่ที่ห้องแอร์ เป็นต้น ทำให้ไม่ได้ใช้พัดลมให้ก่อประโยชน์สูงสุด ดั่งเช่น รปภ. และหากรปภ. หรือพระสงฆ์ขาดแคลนพัดลม เหมือน ๆ กัน แต่พระสงฆ์ยังมีฆราวาสไปถวาย จนบางรูปมีพัดลมเต็มไปหมด แต่รปภ.ไม่มี เป็นต้น
รตจิตร เขียนเรื่องนี้ ก็เพื่อเป็นเครื่องเตือนสติตัวเอง และผู้ที่อาจมีความคิดคล้าย หรือเหมือน รตจิตร ในครั้งแรก ดั่งคำสอนของพระอาจารย์กฤช นิมฺมโล ที่ว่า ตราบใดที่ ยังมีผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบอยู่ พระพุทธศาสนาก็ยังมีอยู่ คนเราไม่ว่าอยู่ในฐานะใด ต้องขยัน ในการเจริญกุศล และละอกุศล ซึ่งมีอยู่ 4 ข้อชวนให้จดจำคือ
1. ละอกุศลที่มีอยู่
2. ละอกุศลแล้ว ต้องระวังอย่าให้เกิด
3. พยายามให้มีกุศล ยิ่งถ้าบุคคลใดไม่มีกุศลเลย ยิ่งต้องให้เกิดกุศล
4. หมั่นเจริญกุศลที่มีอยู่
ผลของการทำกุศล ที่ลูกรตจิตร ให้พัดลมแก่ยาม หรือรปภ. ที่ป้อมยาม ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 25 ธันวาคม 2558 นั้น ทำให้พวกเราแม่ลูกมีความสุข รู้สึกปิติ ทุกครั้ง ที่ผ่านป้อมยาม จนถึงทุกวันนี้ เพราะเห็นภาพที่ยามทุกคนในป้อม ได้ใช้พัดลมกันตลอด ได้มีความสุขร่วมกันทุกคน และได้ประโยชน์จริง ๆ