จริยธรรมในการออกแบบ และ ปรับปรุงผลิตภัณฑ์

บทความนี้เขียนขึ้น และเป็นลิขสิทธิ์ของ พราว อรุณรังสีเวช
เขียนขึ้นครั้งแรกในปี 2559 และปรับปรุงเผยแพร่ในปี 2561
ข้าพเจ้าไม่อนุญาตให้นำไปเผยแพร่หรือคัดลอกในที่ใด ๆ ไม่ว่าจะใช้ในสถาบันการศึกษาหรือสถานที่อื่น ๆ ที่เดียวที่ไม่ใช่เว็บไซต์นี้ และมีบทความนี้อยู่ คือ เอกสารประกอบการสอนวิชาศิลปะเพื่องานนิเทศศาสตร์ ซึ่งเป็นตำรากลางของคณะที่ข้าพเจ้าสังกัด และบทที่ 10 นั้น มีชื่อของ พราว อรุณรังสีเวช ปรากฏอยู่ ข้าพเจ้าไม่อนุญาตให้ผู้สอนท่านอื่น ๆ นำไปใส่ในตำราส่วนตัว เพื่อวางขาย เผยแพร่ หรือใช้ประกอบการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการ
หากผู้สอนท่านอื่นคัดลอกไปใช้ในเอกสารประกอบการสอนหรืิอตำราหรือหนังสือที่อ้างว่าตนเองเป็นผู้แต่ง จะถือว่าละเมิดลิขสิทธิ์ทันที
กล่าวโดยสรุปคือ ไม่อนุญาตให้ Plagiarism ส่วนหนึ่งส่วนใดของข้อมูลที่ปรากฏในโพสนี้

– – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – –

จริยธรรมในการออกแบบ และ ปรับปรุงผลิตภัณฑ์

จากกลยุทธ์การเพิ่มการรับรู้คุณค่าของผลิตภัณฑ์ในหัวข้อที่ผ่านมานั้น สามารถสรุปได้ว่า การมุ่งเน้นการขาย หรือ การออกแบบผลิตภัณฑ์ เพื่อหวังผลกำไรอย่างเดียวนั้น ไม่เพียงพอ หากแต่ความรับผิดชอบต่อสังคม ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดความยั่งยืนของธุรกิจ ในหัวข้อนี้จะแนะนำแนวทางการดำเนินการทางธุรกิจ ตามแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งองค์กรต้องอาศัยความซื่อสัตย์ สัจจริง อันประกอบด้วย 3 หัวข้อย่อย คือ ไม่หลอก ไม่ลอก และมีความรับผิดชอบ

1. ไม่หลอกลวงผู้บริโภค

การหลอกลวงผู้บริโภคที่เห็นได้จากสื่อทั่วไป คือ การโฆษณาเกินความจริง การบอกสรรพคุณของอาหารและผลิตภัณฑ์เสริมความงาม โดยมิได้แจ้งถึงผลข้างเคียง การใช้วัสดุที่ไม่ได้มาตรฐานมาใช้ในการก่อสร้างอาคาร ตลอดจนการนำศิลปะมาใช้ในการออกแบบ โดยลดต้นทุนการผลิตในด้านอื่น จนทำให้คุณภาพของสินค้าแย่ลง

การหลอกลวงผู้บริโภคในงานด้านการผลิตสื่อ สามารถเห็นได้ชัดเจนในการรายงานข่าว ที่เข้าข้างพรรคการเมืองฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง การบิดเบือนข่าวด้วยมุมกล้อง การพาดหัวข่าวเพียงเพื่อเรียกร้องความสนใจ โดยมิได้คำนึงถึงบุคคลที่อาจได้รับความเสื่อมเสียจากข้อความนั้น ๆ ในงานการผลิตภาพยนตร์ก็เช่นกัน ภาพยนตร์ที่คุณภาพไม่ดี อาจโฆษณาเกินจริงด้วยการออกแบบโปสเตอร์ และการจัดทำตัวอย่างภาพยนตร์ นอกจากนี้ยังมีการแอบอ้าง เช่น C.B. Cebulski ซึ่งเป็นบรรณาธิการบริหารและนักเขียนชาวอเมริกันผิวขาว ได้ใช้ชื่อภาษาญี่ปุ่นเป็นนามปากกว่า Akira Yoshida ซึ่งผู้บริโภคสื่อเชื่อว่า การแอบอ้างเป็นชาวเอเชียโดยคนผิวขาว เป็นการเรียกร้องความสนใจ หลอกลวง สร้างความเข้าใจผิด และยังแย่งงานของชาวเอเชียอีกด้วย

กล่าวได้ว่า การหลอกลวงผู้บริโภคสื่อ หรือผู้บริโภคสินค้าใด ๆ ไม่ใช่เรื่องที่ดีเลย การหลอกลวงอาจทำให้เกิดกำไรในระยะสั้น แต่เมื่อความจริงเป็นที่ประจักษ์ มันจะนำองค์กรนั้น ๆ ไปสู่วิกฤต และอาจเกิดการรวมตัวกัน ไม่ซื้อผลิตภัณฑ์ (Boycott)

2. ไม่ลอกเลียนแบบผลงานอันมีลิขสิทธิ์และสิทธิบัตร

ดังที่กล่าวไว้ในข้างต้น หนึ่งในใจความสำคัญของแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์คือการรู้จักใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาให้เกิดประโยชน์ ทั้งเพื่อให้กฎหมายคุ้มครองผลงานที่ตนออกแบบ และเพื่อให้ผู้ออกแบบมีความตระหนัก ไม่ลอกเลียนผลงานของผู้อื่น การลอกเลียนแบบผลงานของผู้อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกแบบผลิตภัณฑ์ นอกจากจะทำให้เกิดความอับอาย ไม่น่าภาคภูมิในแล้ว ยังไม่ได้รับความไว้วางใจจากกลุ่มผู้ซื้อ เช่น เรื่องคุณภาพ ภาพลักษณ์ขององค์กร และยังเสียเปรียบในการโฆษณาอีกด้วย ตัวอย่างเช่น หากบริษัท A เป็นเจ้าของสิทธิบัตรสูตรขนมและเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าของขนมชนิดหนึ่ง แต่บริษัท B ได้ลอกเลียนแบบสูตร โดยทำให้มีความคล้ายคลึง และใช้ชื่อสิ้นค้าที่คล้ายคลึงกับบริษัท A เมื่อไรก็ตามที่บริษัท B ได้โฆษณาสินค้าของตน กลุ่มผู้บริโภคจะระลึกถึงสินค้าของบริษัท A และการระลึกนั้น ยังทำให้เกิดการเปรียบเทียบระหว่างของแท้กับของเทียม

3. รับผิดชอบต่อผลิตภัณฑ์ที่ถูกออกแบบหรือผลิต

ในปัจจุบันจะเห็นได้ว่าบริษัทใหญ่บางบริษัทได้เรียกคืนสินค้า อาทิ โทรศัพท์มือถือ และรถยนต์ บริษัทเหล่านี้แสดงความรับผิดชอบกับสิ่งที่เคยเกิดและอาจเกิดในอนาคต เช่น โทรศัพท์มือถือระเบิด ในการสร้างสรรค์สื่อทางนิเทศศาสตร์ก็เช่นเดียวกัน ผู้ผลิตสื่อควรมีความรับผิดชอบต่อสังคมตั้งแต่เริ่มผลิต แต่อย่างไรก็ตาม ในบางกรณี ผู้ผลิตไม่สามารถรู้ได้เลยว่าผลเสียที่จะเกิดจะเกิดขึ้นเมื่อไร หรือด้วยเนื้อหาส่วนใดในสื่อ ดังนั้นเมื่อไรก็ตามที่มีผลกระทบในทางลบอันเกิดจากสื่อที่ตนผลิตขึ้น ผู้ผลิตสื่อควรหาทางแก้อย่างเร่งด่วน

การเลือกใช้ชนิดของคอนกรีตก็เช่นกัน หากคอนโดใดที่ต้องการจะทำสระน้ำเกลือ ก็ควรที่จะเลือกใช้คอนกรีตทนเค็ม เหมือนกับที่ใช้สร้างสถานีขุดเจาะแก๊สธรรมชาติกลางทะเล หรืออาจหาวัสดุมาปกคลุมทับคอนกรีตเดิมเพื่อป้องกันมิให้เกลือทำลายโครงสร้างอาคาร (Kearns, Kearns, & Kearns, 1982) แต่ในทางกลับกัน มีคอนโดจำนวนมากที่สร้างด้วยคอนกรีตธรรมดา ได้เปลี่ยนระบบน้ำคลอรีนมาเป็นน้ำเกลือ ซึ่งมีผลต่อโครงสร้างในระยะยาว เพราะคอนกรีตไม่สามารถทนกับเกลือได้ (Valenza & Scherer, 2005) ทำให้น้ำซึมเข้าไปถึงเหล็กที่อยู่ด้านในเสาและคาน เมื่อน้ำได้สัมผัสกับเหล็ก เหล็กจะขึ้นสนิมและขยายตัว ดันคอนกรีตที่อยู่รอบ ๆ แตกออก เมื่อเสาและคานแตกชำรุด ทำให้อาคารมีโอกาสพังลงได้ง่าย

การกระทำผิดจรรยาบรรณวิชาชีพอาจไม่เกิดขึ้น ถ้าผู้ประกอบการมีคุณธรรมในการประกอบธุรกิจ อย่างไรก็ดี พิริยะ ผลพิรุฬห์ (2556) ได้เล็งเห็นถึงโทษที่อาจเกิดขึ้นเมื่อธุรกิจใหญ่น้อยได้ระดมพลังความคิดเพื่อดำเนินงานตามแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ เช่น ปัญหาการผูกขาดซึ่งอาจเกิดมาจากทรัพย์สินทางปัญญา, ปัญหาความยุ่งยากซับซ้อนของผลิตภัณฑ์ที่ถูกออกแบบใหม่, ปัญหาสินค้าล้นตลาด, ปัญหาวงจรชีวิตของสินค้าและบริการต่าง ๆ สั้นลง, และที่แย่ไปกว่านั้น คือ การทำลายประเพณีที่ดีงามของประเทศไทย การทำลายประเพณีที่ดีงามอาจเกิดขึ้นจากการนำวัฒนธรรมต่างชาติเข้าประเทศ และ การนำศิลปะวัฒนธรรมของไทยมาประยุกต์กับสินค้า จนวัฒนธรรมเดิมเกิดการผิดเพี้ยน สิ่งเหล่านี้ เป็นประเด็นที่องค์กรต่าง ๆ ควรให้ความสำคัญเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและประเทศชาติอย่างยั่งยืน

สรุป

แนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์และการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์มีผลต่อการอยู่รอดของทั้งองค์กรธุรกิจเอง มีผลกับเศรษฐกิจของประเทศชาติ และยิ่งไปกว่านั้น บุคลากรที่ทำงานด้านการผลิตสื่อที่ไม่ประพฤติตามแนวคิดนี้ด้วยคุณธรรมจริยธรรม จะนำมาซึ่งผลกระทบในด้านลบที่มีต่อเยาวชนที่เป็นอนาคตของชาติ และยังสามารถทำให้ต้องเลิกผลิตสื่อดังกล่าว หรือถูกต่อต้านโดยกลุ่มผู้บริโภคสื่อ ดังนั้น การเรียนรู้แนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในวิชานี้ ควรที่จะถูกนำมายึดถือและปฏิบัติในชีวิตจริง ไม่ว่าผู้เรียนจะเรียนจบไปเพื่ออยู่ในอุตสาหกรรมผลิตสื่อทางนิเทศศาสตร์ หรืออุตสาหกรรมผลิตสินค้าและบริการอื่น ๆ โดยข้อแนะนำจากเนื้อหาในบทนี้ สามารถสรุปได้ดังต่อไปนี้

1) ใช้ศิลปะและความคิดสร้างสรรค์ โดยไม่ลอกเลียนแบบผู้อื่น
2) สร้างเอกลักษณ์แก่ผลิตภัณฑ์ ทั้งด้านการออกแบบ ความประณีต และคุณภาพ
3) หลอมรวมศิลปะวัฒนธรรมพื้นบ้านในผลิตภัณฑ์โดยไม่สร้างความผิดเพี้ยนแก่วัฒนธรรมดั้งเดิม
4) รักษาผลประโยชน์ของตนโดยใช้ความรู้ด้านทรัพย์สินทางปัญญา ตลอดจนไม่ขโมยผลงานผู้อื่นมาใช้
5) เลือกใช้กลยุทธ์ทางการตลาดที่ให้ความยุติธรรมต่อผู้บริโภค และควรตั้งราคาสมเหตุสมผล
6) ไม่หลอกลวงด้วยรูปลักษณ์ภายนอก หรือ โฆษณาชวนเชื่อ
7) มีการพัฒนาและปรับปรุงผลิตภัณฑ์อยู่ตลอดเวลา ทั้งในด้านการใช้งาน การตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค และโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านคุณภาพ
8) การออกแบบผลิตภัณฑ์ หรือผลิตสื่อ มิเพียงเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคเท่านั้น แต่ต้องตอบสนองสิ่งที่สังคมต้องการ และทำเพื่อประเทศชาติโดยรวม
9) เพิ่มความน่าเชื่อถือขององค์กร และลดความรู้สึกเสียงที่ลูกค้าอาจมีจากการใช้ผลิตภัณฑ์
10) มีความจริงใจต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย งดเว้นการแบ่งหมู่เหล่า เช่น ชนชั้น สีผิว สถานที่ถือกำเนิด และเพศ

ผู้สอนวิชาศิลปะเพื่องานนิเทศศาสตร์นี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้เรียนจะสามารถนำแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์มาใช้กับการสร้างสื่อทางนิเทศศาสตร์ เพื่อช่วยเพิ่มคุณค่าของงาน ความน่าเชื่อถือของงาน ซึ่งส่งผลทำให้ผู้ผลิตสื่อ และองค์กรที่สังกัดมีความยั่งยืน และเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาสังคม 

อ่านเรื่องแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ทั้งบท
เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ความหมายของ Creative Economy
ความรู้ด้านทรัพย์สินทางปัญญา ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า
ความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบ
ความยั่งยืนของธุรกิจ
ความหมายและความสำคัญของผลิตภัณฑ์
การเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์
จริยธรรมในการออกแบบ และ ปรับปรุงผลิตภัณฑ์
รายการอ้างอิง ของทั้งหมด

หมายเหตุ ข้าพเจ้า พราว อรุณรังสีเวช เคยเขียนเรื่องในหัวข้อเดียวกันนี้ลงวารสาร 2 เล่ม ตามที่ปรากฏในอ้างอิง แต่ไม่ต้องการให้เกิดการซ้ำซ้อนหรือ Plagiarism ตนเอง จึงได้ Paraphrase เนื้อหา แต่ถ้าใครต้องการสรุปไปอ้างอิง ให้ใช้ข้อมูลการอ้างอิงดังที่ปรากฏด้านล่างนี้
อ้างอิงบทความนี้:
พราว อรุณรังสีเวช และ รตจิตร อรุณรังสีเวช. (2560). แนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์และการรับรู้คุณค่าผลิตภัณฑ์. วารสารวิชาการ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม, 2(3), 47-63.
Arunrangsiwed, P. & Arunrangsiwed, R. (2017). Creative Economy and Perceived Product Value. Management Science Rajabhat Maha-Sarakham University Journal, 2(3), 47-63.
พราว อรุณรังสีเวช และ สิริพร มีนานันทน์. (2559). สื่อสร้างสรรค์เพื่อการศึกษา. วารสารเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน มทร.พระนคร, 1(2), 62-71.
Arunrangsiwed, P. & Meenanan, S. (2016). Prosocial Media for Education. Journal of Mass Communication Technology, RMUTP, 1(2), 62-71.

Advertisement

6 Comments

Filed under Uncategorized

6 responses to “จริยธรรมในการออกแบบ และ ปรับปรุงผลิตภัณฑ์

  1. Pingback: วิธีการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ | Sw-Eden.NET

  2. Pingback: ความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบ | Sw-Eden.NET

  3. Pingback: วิธีการสร้างความยั่งยืนของธุรกิจ | Sw-Eden.NET

  4. Pingback: ความหมายและความสำคัญของผลิตภัณฑ์ | Sw-Eden.NET

  5. Pingback: สื่อโฆษณาที่เน้นว่าขาวแล้วสวย มันฆ่าคนผิวดำชัด ๆ | Sw-Eden.NET

  6. Pingback: Walking Cycle หน้าตาเป็นอย่างไร ใน Animation? | Sw-Eden.NET

Leave a Reply ถาม หรือ แสดงความคิดเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.