22 places to visit in Buriram and Surin
เขียนโดย รตจิตร
Written by Ratajit |March 10, 2019
**งานเขียนของ รตจิตรนี้ เขียนขึ้นเพราะอยากให้เป็นประโยชน์แก่คนที่อ่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อน ๆ สายบุญทุกคน ที่ชอบทัวร์ไหว้พระ เพื่อน ๆ ที่รักการทำบุญ โปรแกรมของรตจิตรค่อนข้างเยอะทีเดียว แต่การทัวร์ของรตจิตรครั้งนี้ จะมีมากกว่าคำว่า ทัวร์ไหว้พระเพราะได้แวะสถานที่สำคัญ ที่สวยงามที่ผ่านตามเส้นทางด้วย ห้ามมิให้คัดลอกดัดแปลง หรือนำไปใช้เพื่อการค้าหรือใช้ในเว็บไซต์อื่น ไม่ว่ากรณีใด ๆ จะถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ด้านวรรณกรรมและศิลปกรรมทันที ในกรณีที่ต้องการนำไปใช้ในสถาบันการศึกษาเพื่อเป็นวิทยาทาน ต้องได้รับอนุญาตจากผู้เขียน และต้องอ้างอิงแหล่งที่มาด้วย
1. มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์
วันนี้รตจิตรยังอยู่ที่จังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อจะไปเที่ยวในจังหวัดต่อไปคือ สุรินทร์ รตจิตรเห็นสถานที่ต่าง ๆ ที่จังหวัดบุรีรัมย์นิยมสร้างเป็นปราสาท มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์เช่นกัน หรือแม้แต่ตอนที่รตจิตรไปมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ก็สร้างเป็นปราสาทปะปนกับอาคารสมัยใหม่ แต่มหาวิทยาลัยที่แปลก สร้างสไตล์ยุโรปคือมหาวิทยาลัยเฉลิมกาญจนา ซึ่งรตจิตรจะแวะไปวันหลังเพื่อถ่ายภาพมาฝากเพื่อน ๆ
2. พระพุทธชัยมงคลเฉลิมพระเกียรติ
รตจิตรอยากแนะนำเพื่อน ๆ ควรแวะมาสักการะพระพุทธชัยมงคลเฉลิมพระเกียรติ รตจิตรคิดว่าที่นี่คนทำตั้งใจสร้างมาก ๆและมีความรู้จริง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับปางต่าง ๆ ของพระพุทธรูป ซึ่งคนปกติไม่น่าจะรู้เกิน 10-30% ของปางทั้งหมดที่นี่มี
3. วัดป่าหนองแคร์
รตจิตรมาที่วัดป่าหนองแคร์โดยบังเอิญเพราะต้องผ่านก่อนที่จะไปกำแพงเมืองคูเมืองสุรินทร์ ถ้าเพื่อน ๆ จะมาที่นี่ รตจิตรแนะนำให้มาวันที่มีญาติธรรมมาปฏิบัติธรรม เพราะปกติรตจิตรไม่เห็นใครเลย ทั้ง ๆ ที่วัดสวย เป็นธรรมชาติ กว้างใหญ่ สวย และสงบจริง เหมาะแก่การปฏิบัติธรรม หรือหาที่เงียบ ๆ
รตจิตรผ่านมาที่กำแพงเมือง คูเมืองสุรินทร์ เป็นด่านแรกที่เข้าจังหวัดสุรินทร์ แต่ค่อนข้างผิดหวัง เพราะไม่มีการดูแล หญ้ารกไปหมด ขนาดรตจิตรแวะมาที่กำแพงเมือง คูเมืองสุรินทร์ ซึ่งมีคูเมืองล้อมรอบ 2 ชั้น เห็นชาวบ้านยังมองรตจิตร แปลก ๆ ทั้ง ๆ ที่รตจิตรคิดว่ามีความรู้นะก่อนจะเที่ยวจังหวัดสุรินทร์
รตจิตรมาทำบุญวัดสวยวัดแรกของจังหวัดสุรินทร์ในวันนี้คือ วัดพรหมสุรินทร์ สามารถทำบุญได้หลายอย่าง ชาวบ้านก็แววะเวียนมาเยอะ ที่วัดพรหมสุรินทร์ วัดนี้ รตจิตรได้ให้อาหารปลาดุกด้วย แต่เดินเข้าไปลึกนิดนึง เป็นวัดที่น่าสนใจมากมีจุดเด่นอยู่ที่สิ่งก่อสร้างเกี่ยวกับพุทธประวัติ นรก สวรรค์ เช่น รูปปั้นพระมารดาของพระพุทธเจ้ายืนจับต้นสาละ ต้นจริง ๆ ด้วย วัดนี้เป็นวัดตัวอย่างที่ทำนุบำรุง บวรพระพุทธศาสนาได้เป็นอย่างดี
6. ศาลาหลักเมือง
รตจิตรไปเที่ยวทุกจังหวัด จะต้องแวะสักการะศาลหลักเมืองประจำจังหวัด และแน่นอนทั้ง บุรีรัมย์และสุรินทร์ สวย ๆ ทั้งคู่ รตจิตรเห็นศาลหลักเมืองที่จังหวัดสุรินทร์มี 4 ขั้นตอนคือ 1. กราบไหว้ฟ้าดิน 2. กราบไหว้ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง คล้ายกับจังหวัดอื่น ๆ เช่นศาลเจ้าพ่อหลักเมืองที่กรุงเทพ ฯ 3. กราบไหว้ศาลเก่า (ตายาย) 4. กราบไหว้เทพรักษาประตู (หมึ่งซิ้ง)
7. ศาลปะกำเมือง และ อนุสาวรีย์พระยาสุรินทร์ภักดีศรีณรงค์จางวาง (ปุม)
รตจิตรมาที่จังหวัดแถบนี้ ทั้งบุรีรัมย์ สุรินทร์ และมหาสารคาม รตจิตรเพิ่งรู้จักคำว่า ปะกำเมือง ซึ่งก็คือเชือกผูกคล้องตัวช้างนั่นเอง รตจิตรไม่เคยเห็นรูปปั้นช้างที่จังหวัดไหนสวยเท่าที่สุรินทร์เลย คนสร้างรู้สัดส่วนของช้างจริง หางช้างก็ทำเหมือนหางปลาเหมือนช้างตัวเป็น ๆ แม้แต่ควาญช้างก็ปั้นออกมาได้เหมือนงดงามมาก
ตรงวงเวียนด้านหน้า รตจิตรไม่สามารถข้ามถนนไปไหว้อนุสาวรีย์พระยาสุรินทร์ภักดีศรีณรงค์จางวาง (ปุม) เพราะรถเยอะ และมารอบวงเวียน แต่รตจิตรเห็นชาวบ้านวิ่งข้ามถนนตรงวงเวียน เอาพวงมาลาไปถวายที่อนุสาวรีย์พระยาสุรินทร์ภักดีศรีณรงค์จางวาง (ปุม) ได้ด้วย รตจิตรใช้วิธีไหว้อยู่ด้านหน้าของศาลปะกำเมืองแทน
8. วัดจุมพลสุทธาวาส
หลังจากรตจิตรสักการะศาลปะกำเมือง และ อนุสาวรีย์พระยาสุรินทร์ภักดีศรีณรงค์จางวาง (ปุม) รตจิตรก็แวะวัดที่อยู่ซอยด้านข้างศาลฯ เป็นวัดใหญ่มาก และกำแพงวัดก็เป็นรูปนูนน้องช้าง สวยงามเช่นกัน
9. มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์
รตจิตรผ่านเข้ามาที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ เพื่อเปรียบเทียบความงดงามของสถาปัตยกรรม คณะต่าง ๆ ที่มหาวิทยาลัย กับมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ที่รตจิตรไปเที่ยวทั้งเช้าและกลางคืน เนื่องจากอยู่ใกล้โรงแรมที่พัก อิฐแดงที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์สร้างเป็นคณะต่าง ๆ สวยงามมาก รตจิตรแวะมาที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ เพราะตั้งใจจะไป shopping ที่ Green outlet ของจังหวัด ซึ่งอยู่ใกล้ ๆ มหาวิทยาลัย ฯ
10. อนุสรณ์สถานหลวงปู่ดุลย์ อตุโล วัดป่าโยธาประสิทธิ์
รตจิตร มาวัดป่าโยธาประสิทธิ์แบบไม่ได้วางแผนไว้ แต่เห็นก่อนที่จะถึง Green outlet รตจิตรดีใจมากที่ได้เห็นอนุสรณ์สถานหลวงปู่ดุลย์ อตุโล นอกจากความสูงใหญ่น่าเกรงขาม ยังงดงามมาก การลงสีเยี่ยม ที่วัดป่าโยธาประสิทธิ์กำลังมีการสร้างโบสถ์ใหญ่ รตจิตรจึงร่วมทำบุญหลังคา และเช่าพระอีก 99 บาท
11 . Green Outlet@สุรินทร์
รตจิตร ตั้งใจแวะที่ Green outlet ของจังหวัด เพราะต้องการ ซื้อของท้องถิ่น ของชุมชนจริง ๆ สินค้าส่วนมากราคาสูง เพราะระดับฝีมือ ส่วนของกินรับจากกรุงเทพ ฯ และจังหวัดใกล้เคียงเสียส่วนใหญ่ เลยทำให้รตจิตรซื้ออะไรไม่ค่อยได้ แต่โชคดีที่แวะมา เพราะใกล้ ๆ คือตลาดน้ำนั่นเอง
12. ตลาดน้ำราชมงคลสุรินทร์
รตจิตรไม่ได้ซื้ออะไรเลยที่ตลาดน้ำราชมงคลสุรินทร์ เพราะมาผิดวัน ตลาดน้ำมีเฉพาะ ส-อท. แต่โชคดีแล้ว ทำให้รตจิตรเห็นวิวสวย ๆ และงานศิลปะอีกเพียบ ทั้งการวาดบนเวทีอย่าประณีต การวาด Street art และการจัดให้มีสะพานเชือกหลายจุดน่ารัก ๆ ทุกจุด วันที่มาตลาดน้ำรตจิตรเจอกลุ่มทหารเป็นคนมาช่วยเก็บขยะที่ตลาดน้ำ
13. พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติสุรินทร์
รตจิตรไม่ได้แวะพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติสุรินทร์นะ เพราะรตจิตรไม่มีเวลาเนื่องจากรตจิตรต้องขับกลับบุรีรัมย์ เพราะที่จองโรงแรมพักที่นั่น อีกทั้งรตจิตรยังตั้งใจว่าจะเที่ยว Night market ที่บุรีรัมย์อีกด้วย ถ้าเพื่อน ๆ มีเวลา รตจิตรคิดว่าน่าแวะ การเยี่ยมชมที่พิพิธภัณฑ์ รตจิตรมักต้องใช้เวลาค่อนข้างมาก
14. ศูนย์ปฏิบัติธรรมวัดกลางสุรินทร์
รตจิตรมาที่นี่โดยไม่เจอผู้คนเลย จึงแวะได้ไม่นาน ต้องรีบออกไปชมที่ต่อไป แต่ถือว่าเป็นวัดที่มีศูนย์ปฏิบัติธรรม กว้างใหญ่ สงบมาก สิงห์ขาวหน้าศูนย์ และพระพุทธรูปก็สวยเช่นกัน คือรตจิตรตั้งใจเก็บรูปสิงห์สวย ๆ ของที่จังหวัดนี้ และก็มาเจอที่ศูนย์นี้พอดี เลยถ่ายไปเยอะ แต่รตจิตรต้องถ่ายห่าง ๆ เพราะมีรังแตนดุมากอยู่ในปากสิงห์ที่อ้าอยู่
15. ปราสาทเมืองที
ปราสาทเมืองที เป็นปราสาทสไตล์เขมร สร้างรวมอยู่ด้วยกัน 5 หลัง แต่รตจิตรเห็นชัด ๆ อยู่ 3 หลัง รตจิตรเห็นลักษณะของปราสาทเมืองทีแล้ว ค่อนข้างทรุดโทรม ต้องมีเหล็กดามไว้ ตอนที่รตจิตรขับหาครั้งแรกก็ไม่เห็น ที่ไหนได้ ปราสาทอยู่ในตัววัดเมืองทีเลย
16. วัดจอมสุทธาวาส สุรินทร์
รตจิตรพยามยามหาตู้บริจาค หรือพระสงฆ์ แต่รตจิตรไม่เจอใครเลย เจอแต่น้องหมาแม่ลูกอ่อน เลยให้อาหารลูกหมาแทน เพราะตั้งใจว่าไปเที่ยวทุกวัดต้องทำบุญให้ได้ทุกวัดด้วย รตจิตรคิดว่าวัดนี้มีโบสถ์ที่สวยมาก มียักษ์คล้ายยักษ์วัดโพธิ์ ยืนถือกระบองหน้าโบสถ์ นอกจากนี้รตจิตรแอบเห็นงานศิลป์ภาพวาดพระพุทธรูปประจำวันอาทิตย์ – เสาร์ อยู่ด้านหลังพระพุทธรูปจริง ๆ เหมือนตั้งใจให้ดูเป็นภาพซ้อน สวยจัง
17. ปราสาทศีขรภูมิ สุรินทร์
รตจิตรไม่ต้องจ่ายค่าเข้าเพราะอายุ แต่ปกติค่าเข้าคนไทย 10 บาท ต่างชาติ 50 บาท รตจิตรชอบปราสาทศีขรภูมิ สุรินทร์ เพราะสวยมาก รตจิตรคิดว่าคนไทยไม่ต้องไปดูปราสาทที่เขมรก็ได้ เพราะปราสาทศีขรภูมิ ของสุรินทร์ก็มีลักษณะของเขมร เสียดายอย่างเดียวคือการซ่อมของกรมศิลป์ ที่ไม่มีความเป็นศิลป์เลย ใช้อิฐธรรมดามาต่อเติมส่วนของปราสาทศีขรภูมิที่แตกหักหรือหลุดไป ทำให้ความเป็นปราสาทเก่าหายไปทันทีอย่างน่าเสียดาย
18. สวนเฉลิมพระเกียรติพระเทพ ศาลากลางน้ำ สระ 4 เหลี่ยม สุรินทร์
ครั้งแรกที่รตจิตรจัดโปรแกรมมาเที่ยว ยังคิดว่าคนที่ใส่ชื่อใน google map ใส่ผิดว่าสระ 4 เหลี่ยม รตจิตรคิดว่าเหมือนเป็นคำพูด แต่พอรตจิตรไปอุดหนุนชาวบ้าน นั่งกินก๊วยเตี๋ยวแถวสระสี่เหลี่ยม จึงรู้ว่าเป็นคำที่เรียกกันมากนาน รตจิตรชอบศาลากลางน้ำ สระ 4 เหลี่ยม เพราะร่มรื่น รตจิตรคิดว่าตอนเย็น ๆ ที่ศาลากลางน้ำนี้คนต้องเยอะแน่ ๆ ปรากฏว่าไม่ทันไรเด็กนักเรียนเต็มไปหมด เพราะโรงเรียนเลิกพอดี
19. ปราสาทช่างปี่ สุรินทร์
รตจิตรกว่าจะหาปราสาทช่างปี่เจอใช้เวลาพอสมควร เพราะทางเข้าเล็ก แต่โชคดีตอนที่รตจิตรขับเข้ามาไม่มีรถสวนเลย อีกทั้งเย็นแล้ว เป็นช่วงเวลาที่ชาวบ้านต้อนฝูงวัวควายกลับ ทำให้รตจิตรขับรถได้ช้านิดนึง ที่ปราสาทช่างปี่ รตจิตรเจอซากงูลอกคราบไว้ ตกใจเหมือนกัน ปราสาทสวย มีประตูทำลุกันหลายประตู ถ่ายรูปได้สวยเลยแหละ มีสระน้ำอยู่ใกล้ ๆ ด้วย พิสูจน์ให้เห็นว่า คนไทยสมัยก่อน อยู่ที่ไหนนอกจากจะอยู่ติดลำน้ำ ยังมีการขุดสระไว้ในการดำรงชีวิตด้วย
20. พิพิธภัณฑ์ชุมชนช่างปี่ และ วัดช่างปี่ สุรินทร์
ใครมาสุรินทร์ไม่แวะที่นี่ น่าเสียดายมาก ทั้งวัดช่างปี่ และพิพิธภัณฑ์ชุมชนช่างปี่ ช่างสวยงามมาก พระสงฆ์ที่รตจิตรพบที่ วัดช่างปี่ก็ใจดีมาก ท่านอยากให้รตจิตรขึ้นไปด้านบนของพิพิธภัณฑ์ชุมชนช่างปี่ เพื่อดูความสวยงาม และยิ่งสวยขึ้นไปอีกเพราะตอนที่รตจิตรมาที่นี่ เป็นช่วงดวงอาทิตย์ส่องก่อนลับขอบฟ้า สะท้อนทั้งพิพิธภัณฑ์ และสีทองระยิบระยับของโบสถ์ สวยงามจริง รตจิตรไม่ได้เข้าโบสถ์วัดช่างปี่ รตจิตรจึงทำบุญที่พิพิธภัณฑ์แทน
21. ศาลหลักเมืองบุรีรัมย์ และศาลปึงเถ่ากงม่า
รตจิตรออกเดินทางกลับจากสุรินทร์ เพื่อกลับมาบุรีรัมย์ จึงเข้าสักการศาลหลักเมือง และศาลปึงเถ่ากงม่า ความเป็นตรุษจีนมาก ๆ ยังอยู่ ทำให้สว่างไสวเพราะโคมไฟแบบจีน ความเห็นของรตจิตรเกี่ยวกับศาลปึงเถ่ากงม่า การก่อสร้างที่ศาลปึงเถ่ากงม่า เป็นการก่อสร้างที่มีมิติ โดยให้ตัวมังกร และเสือทำเหมือนทะลุจากด้านในโผล่หัวออกมาด้านนอ ศาลหลักเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ก็อยู่บริเวณเดียวกัน สวยงดงามมาก ทำให้รตจิตรตัดสินใจต้องมากอีกครั้งตอนเช้า
22. ไนท์เซราะกราว
รตจิตรถามแม่ค้า จึงรู้ว่า ไนท์เซราะกราว แปลว่า ตลาดกลางคืนนั่นเอง รตจิตรเห็นชาวเมืองมานั่งกินกันเพียบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกหนุ่มสาว ตลาดมีที่จอดรถจำนวนมาก แต่รถก็ค่อนข้างเต็ม ราคาอาหารเหมือนกรุงเทพเป็ะ แล้วรตจิตรก็เดินทางกลับ โรงแรม Best Western ในเมืองบุรีรัมย์ แม้กินเยอะที่ไนท์เซาะกราว แต่เช้ามาก็กินเยอะที่โรงแรม