คัดลอกงานผู้อื่นแบบมักง่าย (Plagiarism) คืออะไร? ป้องกันอย่างไร?
ในการเรียนการทำรายงานของนักศึกษา หรือ การทำเอกสารขอตำแหน่งของอาจารย์ระดับมหาวิทยาลัย ตลอดจนการทำเว็บไซต์ของครูทั้งระดับโรงเรียนและมหาวิทยาลัย มักพบการละเมิดลิขสิทธิ์อยู่บ่อยครั้ง ตั้งแต่วรรณกรรม และรูปภาพ
Plagiarism หรือการคัดลอกผู้อื่นแบบมักง่ายนี้ สว อิเฎล ได้พบคนที่รู้จักทำด้วยเหตุผลที่ว่า มีนิสัยดินพอกหางหมู ไม่ยอมเขียนงานแต่เนิ่น ๆ มาเริ่มทำก็วันท้าย ๆ และทำไม่ทัน จนคิดว่าต้องตัดแปะจากตามเว็บไซต์ หรือนั่งพิมพ์ตามหนังสือที่ผู้อื่นเขียน เพื่อเอาตัวรอดอย่างไม่คิดว่าอะไรควรทำหรือไม่ควรทำ
สว อิเฎล เคยเห็นรายงานของนักศึกษาจำนวนมาก ที่แทบไม่ได้เขียนอะไรเองเลย ถ้าอาจารย์ลอง Search ส่วนใด ก็จะเจอว่ามาจากผลงานของผู้อื่นทั้งเล่ม ครูบาอาจารย์ที่เขารู้ทันและเอาใจใส่เรื่องนี้ก็จะให้ F แต่ก็มีครูบางประเภทที่ตนเองก็ชอบทำเอง เลยเห็นว่าที่นักศึกษาทำนั้นไม่ผิดอะไร
มีนักศึกษาคนนึง เคยบอก สว อิเฎล ว่าอาจารย์จากมหาวิทยาลัย xxx จ้างพิมพ์ตามหนังสือที่ตนซื้อมา เพื่อนำไปทำผลงาน สว อิเฎล อยากให้มีการตรวจผลงานเหล่านี้ให้รอบคอบ คนที่ไม่ลงมือเขียนเอง ก็ไม่ควรที่จะได้ปรับตำแหน่งโดยใช้งานที่คนอื่นสร้างสรรค์ขึ้น
นอกจากนี้ หลายคน ไม่ใช่แค่ตามสถาบันการศึกษา ไม่รู้วิธีการอ้างอิงที่ถูกต้อง พวกเขาคิดไปเองว่า แค่ Copy และ Paste จากนั้นก็อ้างอิงหรือใส่ Credit ก็จะทำให้การ Copy เป็นสิ่งที่ถูกต้อง การเข้าใจเช่นนี้เป็นสิ่งที่ผิด ไร้จริยธรรม และขาดความรับผิดชอบ
การอ้างอิงผลงานคือ การอ่าน จับใจความ และสรุปเป็นภาษาของตนเอง ถึงแม้รูปประโยคจะเป็นภาษาของตนเองแล้วก็ตาม ก็ยังต้องอ้างอิง เพราะการค้นพบหรือแนวคิดนั้น ๆ มาจากผู้อื่น
ในกรณีที่จะคัดลอกแบบไม่แก้ไขอะไรเลย ก็ทำได้ด้วยกฎเกณฑ์ คือ ถ้าไม่เกิน 3 บรรทัด ให้ใช้คำว่า “กล่าวว่า” และตามด้วยข้อความที่ต้องการยกมา เช่น วิวลี่ โกสะ (2562) กล่าวว่า การมีชีวิตยืนยาวเป็นสิ่งประเสริฐ
แต่ในกรณีที่เกิน 3 บรรทัด สว อิเฎล จะต้องกั้นหน้ากระดาษ ให้ตัวหนังสือขยับเข้าไปประมาณ 1 นิ้ว และทำตัวเอียง ส่วนใหญ่กรณีนี้ สว อิเฎลจะใช้กับคำพูดที่สำคัญ และต่อเนื่องกันยาว ไม่สามารถตัดข้อความได้
ถึงจะใช้วิธีตามที่กล่าวไว้ในย่อหน้าที่ผ่านมา ก็ไม่ควรคัดลอกเกินครึ่งหน้ากระดาษ
การกระทำผิดแบบ Plagiarism ไม่ใช่เรื่องเล็ก เพราะมันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งมีโทษถึงติดคุก และปรับเงินจำนวนมาก แต่สว อิเฎลยังเห็นผู้คนมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามเว็บไซต์ มักง่าย ชอบคัดลอกงานเขียนและรูปภาพของผู้อื่น เพียงคิดว่าให้ Credit จะทำให้ทุกอย่างถูกต้อง
สว อิเฎล เคยเขียนงานมากกว่าร้อยเรื่อง หลายเรื่องไม่มีคนอ่านแล้ว ซึ่ง สว อิเฎลก็สงสัย เลยลองไป Search ดู และได้พบว่ามีมากกว่า 10 เว็บไซต์คัดลอกงานที่สว อิเฎลสร้างสรรค์ขึ้น และ เว็บไซต์เหล่านั้นกลับถูกค้นพบในหน้าต้น ๆ ของ Google
ตอนนี้ สว อิเฎล กับทีมงานของเว็บไซต์เรา กำลังตรวจ และตามดู เพื่อดำเนินคดีกับผู้มักง่ายเหล่านี้
Pingback: ภาพยนตร์นิพนธ์ วิทยานิพนธ์ ธีสิส ทำเพื่ออะไร? | Sw-Eden.NET