ตอนที่อาจารย์พราว อรุณรังสีเวช ให้สัมภาษณ์อยู่นั้น คือตอนที่เป็นอาจารย์ธรรมดา ๆ คนหนึ่ง เรียนปริญญาเอกไปทำงานไป เหนื่อยโหดมาก แถมเจอวิชาที่มีคำอธิบายคล้ายกับอีกวิชา ทำให้วางแผนยากมาก 555+ แบบว่า ต้องคอยถามนักศึกษาเพื่อให้สอนสิ่งที่แตกต่างแปลกใหม่ เขาจะได้อะไร ๆ เยอะ ๆ
คำถามโดย คุณอ้อม คำตอบโดย อาจารย์พราว
Cite this article as: Arunrangsiwed, P. (2020). Lect. Proud Arunrangsiwed Exclusive Interview. Retrieved from https://sw-eden.net/2020/04/02/arunrangsiwed-exclusive-interview/
อ้างอิงบทความนี้: พราว อรุณรังสีเวช. (2563). บทสัมภาษณ์อาจารย์พราว อรุณรังสีเวช โดย คุณอ้อม. สืบค้นจาก https://sw-eden.net/2020/04/02/arunrangsiwed-exclusive-interview/
งานอดิเรก
เมื่อก่อนสมัยเรียนอยู่มีงานอดิเรกหลายอย่าง เช่น เล่นดนตรี Piano/Keyboard, Harmonica, ขลุ่ย Recorder, Bass, Guitar, กลอง, จะเข้, ทำเว็บ, แต่งร้อยกรอง, เป็น blogger และรับทำงานตกแต่งเว็บไซต์ให้เพื่อนๆ เพราะเมื่อก่อน เว็บแบบ MySpace กับ hi5 ต้องใช้ code CSS เขียน ตอนนั้นก็ถนัดเขียนและแต่งภาพประกอบ
ส่วนปัจจุบันนี้เหลือแค่สร้างสรรค์งานศิลป์ทั่วไป และเลี้ยงนก เริ่มใช้ชีวิตแบบคนปกติมากขึ้น
ทำไมถึงเลือกไปเรียนที่ต่างประเทศ?
มีสองเหตุผลค่ะ
อย่างแรก คือ เพื่อนๆ ที่มหิดลวิทยานุสรณ์ไปเรียนกันเยอะ เราจึงคิดว่า เพื่อนๆ ก็คล้ายๆ เรา ทำไมเราจะทำไม่ได้ เขาทำได้ เราก็ต้องทำได้
อย่างที่สอง คือ ไม่คุ้นเคยกับระบบรุ่นพี่และการรับน้องที่ศิลปากร ที่ต้องกลับดึกทุกคืน รุ่นพี่ชอบเรียกทั้งชั้นปีไปว้าก แถมบังคับให้ค้างคืนที่ ม. เพื่อช่วยทำโมเดลของรุ่นพี่ โดยขู่ว่าถ้าไม่ค้างคืน เมื่อขึ้นปี 2 รุ่นพี่จะไม่ช่วยทำงาน
เรียนสถาปัตย์ที่อเมริกา งานเยอะกว่าที่ศิลปากรหลายเท่า ต้องทำงานด้วยตนเองให้เป็น ตั้งแต่การเป็นช่างไม้ หล่อคอนกรีต ตัดแผ่นแสตนเลส สร้างสะพานที่คนขึ้นไปเดินได้จริงๆ เป็นงานที่อัตราส่วน 1:1 การค้างคืนที่ ม. ก็มีบ่อยนะ หลายครั้งไม่ได้นอน แต่เราก็รู้ว่านั่นคือการรับผิดชอบหน้าที่ของตน มิใช่การรับผิดชอบเรื่องคนอื่น หรือให้คนอื่นมาคอยรับผิดชอบแทนเรา
เรียนจบสถาปัตย์เเต่ทำไมถึงมาสอนอนิเมชั่นกับภาษาอังกฤษ?
ต้องย้อนดูตั้งแต่ตอนเลือกเรียนปริญญาโท เพราะเปลี่ยนแนวทางตนเองตั้นแต่ตอนนั้น ตอนเรียนปริญญาโท เรียนทำเว็บและสื่อที่โต้ตอบสื่อสารเองได้ และมีวิชาเลือกเป็น Animation
เคยถูกสัมภาษณ์ด้วยคำถามเดียวกันนี้ตอนอยู่ที่ต่างประเทศ ตอนนั้นเราตอบว่า สถาปนิกเป็นอาชีพที่รายได้ดี ถูกต้องที่ว่าหลายคนรายได้ดี แต่มีเพียงไม่กี่คนที่มีชื่อเป็นเจ้าของผลงานการออกแบบ เพราะเมื่อเข้าไปอยู่ในบริษัทแล้ว ผลงานก็จะเป็นลิขสิทธิ์ของผู้ว่าจ้าง แม้ว่าเจ้าของผลงานตัวจริงจะสามารถนำมาอ้างถึงใน Portfolio ของตน แต่ใครจะไปรู้หล่ะ
แตกต่างจากคนทำเว็บไซต์ คนสร้างสรรค์สื่อ และศิลปินอื่นๆ ที่เมื่อสร้างสรรค์งานเสร็จ งานเป็นของเขาเอง โดยธรรมชาติของอาชีพ
ความจริง เราเชื่อว่าทุกคนคงอยากทำอะไรเพื่อชาติ เพื่อสังคมโดยรวม อยากทำให้โลกดีกว่าที่เป็นอยู่ แต่ก็ขออย่างนึงคือ ไม่ต้องการปิดทองหลังบริษัทเอกชน
เหตุการณ์ที่ต่างประเทศ ที่เกิดขึ้นกับอาจารย์มันเกิดการเปลี่ยนเเปลงอะไรในชีวิตของอาจารย์บ้างค่ะ?
การอยู่ที่ New York นั้นสร้างอุปนิสัยหรือความคุ้นชินหลายอย่างที่ดีบ้างไม่ดีบ้าง ตั้งแต่ความคุ้นชินกับสนามบิน, ความคุ้นชินกับการขนข้าวของพะรุงพะรังขึ้นลง Subway, การเดินทางด้วยการใช้แผนที่กับเข็มทิศ, การอดหลับอดนอน, เรียนรู้เทคนิคการแพ็คกระเป๋า ปกป้องโมเดลสถาปัตย์กลับสู้ดินแดนสยาม, การรับมือกับไอ้มืดที่ก้าวร้าวใส่เรา, และการเนียนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับชาวผิดดำ
เรื่องที่เปลี่ยนแปลงมากๆ อาจเป็นเรื่อง identity ของการเป็นแฟนเพลงของวงดนตรีท้องถิ่น เราพบว่าตอนอยู่ไทย เราไม่ได้บ้าดาราอะไรขนาดนั้น แต่ทุกครั้งที่ไปอยู่ต่างประเทศ จะบ้าวงดนตรีเสมอ อาจเพราะไม่ได้อยู่กับครอบครัวก็เป็นได้ เราไป Live Show หลายครั้ง บางครั้งดูน่ากลัว อันตราย เราก็ยังไป แบบว่า วงร็อคใต้ดินที่มีแต่พวกคนแปลกๆ ไปดูกัน เรื่อง identity เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ยาก identity ทำให้เราเกิดความภาคภูมิใจกับประสบการณ์ชิวิตที่เกี่ยวกับมัน, ทำให้เราคับแค้นใจในบางเรื่อง, กระทั่งรังเกียจ identity เก่าของเราเอง ตอนที่ชอบวงดนตรีพวกนั้น เราได้พบกับแฟนๆ คนอื่นๆ บ้างเป็นเพื่อนกันมาใน MySpace นั่นเป็นสิ่งที่สนับสนุนให้ identity ของเรามีมากขึ้น
อาจารย์มีประสบการณ์ต่างเเดนอะไรที่คิดว่า Exclusive ที่สุดในชีวิต?
การเรียนสถาปัตยกรรมศาสตร์ ทำให้เรารู้สึกว่าเราแกร่งขึ้นเยอะ ได้รู้หลายๆ อย่าง และรู้ว่าตนเองมีความสามารถมากกว่าที่ตนเคยรู้มา ตอนปี 1 เทอม 2 เจอกับอาจารย์คนนึง ชื่อ Imas (อิแมส) เป็นคนที่น่าสยองขวัญมากที่สุด และให้งานโหด นักเรียนต้องซื้อไม้, ปูน, เทียน, อุปกรณ์ก่อสร้าง มาสร้างโมเดลที่ขนาดใหญ่กว่าตัวเราเอง จ่ายไปหลายพันเหรียญกว่าจะจบเทอมนั้น แต่เงินไม่ใช่เรื่องที่สำคัญ เพราะเรื่องที่สำคัญคือ ได้ช่วยเหลือเพื่อนผู้หญิงในคณะ ที่เรียนอยู่ในห้องเดียวกัน เรารู้สึกเหมือนว่าได้พาเพื่อนของเรา ก้าวผ่านอุปสรรค์ไปพร้อมๆ กับเรา
ในคณะนี้ มีผู้หญิงน้อยมาก 90% เป็นผู้ชาย แถมผู้ชายไม่ช่วยพวกเรายกของหรือสร้างโมเดล เราคิดว่า ถ้าผู้ชายไม่ช่วยเรา เราก็ต้องช่วยผู้หญิงที่เป็นเพื่อนเรานี่แหละ เทอมนั้นเหนื่อยมาก ทั้งงานตนเอง และไปแบกของให้เพื่อน บางครั้งเราก็รู้ว่าแรงเราไม่ได้เยอะ เช่น เราดัดแสตนเลสด้วยมือไม่ได้แบบพวกผู้ชาย เราก็ใช้น้ำหนักตัวขึ้นเหยียบแทน งานก็สำเร็จด้วยมือของผู้หญิงคนนึง ที่ยังสามารถช่วยเหลือผู้หญิงคนอื่นๆได้ด้วย น่าภาคภูมิใจมากค่ะ
ให้อาจารย์ฝากข้อคิดหรือมุมมองในการใช้ชีวิตของอาจารย์?
หลายคนอาจคิดว่าคนที่ไปเรียนต่างประเทศมานั้นได้เปรียบ ทำให้เรารู้จักการปรับตัว แต่เราไม่อยากให้พวกท่านคิดเช่นนั้นเสมอไป อย่างตัวของพราวเอง แม้ว่าเกิดในกรุงเทพ ตอนมัธยม 4-6 อยู่หอที่ศาลายา ไปเรียนศิลปากรได้เทอมนึงที่นครปฐม ไปอยู่ New York อีกห้าปี และไปอยู่ที่ซิดนีย์อีกปีนึง แม้ว่าจะดูแผนที่ได้ แต่ก็ลำบากมากที่จะไปไหนมาไหนกรุงเทพ ไม่ค่อยรู้เรื่องเวลาคนอื่นพูดถึงสถานที่ต่างๆ และที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น คือ เรื่องประเพณีสังคมแบบไทยๆ ถ้าให้พราวสอบ คงจะตกเรื่องนี้ หรือตลอดจนเรื่องเล็กๆ อย่างหน่วยวัดความยาว และพื้นที่ เราต้องใช้เวลานานที่จะปรับตัวให้เข้ากับสากลโลกที่เขาใช้หน่วยเมตริก จึงอยากบอกว่า การไม่คุ้นชินกับบ้านเกิด ไม่ใช่ข้อได้เปรียบนะ
Pingback: ไหว้พระศักดิ์สิทธิ์ ขออะไรไป ได้ทุกอย่าง | Sw-Eden.NET
Pingback: การ์ตูน Fan Art วง Murderdolls สมัยเราเรียนมัธยม | Sw-Eden.NET
Pingback: สอนใช้โปรแกรม Adobe Animate ฟรี! พื้นฐาน | Sw-Eden.NET