ไหว้พระศักดิ์สิทธิ์ ขออะไรไป ได้ทุกอย่าง
อ้างอิงบทความนี้: พราว อรุณรังสีเวช. (2563). ไหว้พระศักดิ์สิทธิ์ ขออะไรไป ได้ทุกอย่าง. สืบค้นจาก https://sw-eden.net/2020/04/08/buddha-bless/
สรุปเป็นบทความสั้น ๆ จากหนังสือ “สถานการณ์พระพุทธศาสนากระแสไสยศาสตร์” โดย พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต) พิมพ์ครั้งที่ 6 ปี 2540 พิมพ์ที่บริษัทสหธรรมิก จำกัด กรุงเทพมหานคร สรุปโดย สว อิเฎล เพื่อหวังให้ชาวไทยที่อยู่ในโลกออนไลน์ได้มีโอกาสอ่านเรื่องดี ๆ ให้ข้อคิด และมีความสนใจที่จะไปค้นคว้าหาหนังสือของท่าน ป. อ. ปยุตฺโต เพิ่มเติม
การตั้งหัวข้อเรื่องเช่นนี้ของอิเฎล ก็เพื่อให้เราพวกท่านสนใจที่จะคลิกเข้ามาอ่าน แต่เนื้อความจริง ๆ นั้นอยู่ที่ว่าเรากำลังมาผิดทางหรือถูกทางกันแน่ เราไปกราบพระพุทธรูปแล้วท่านจะสามารถดลบันดาลโชคลาภให้กับเราได้จริงหรือ ทั้ง ๆ ที่พระพุทธเจ้าก็ไม่เคยดลบันดาลสิ่งใดให้กับใคร เพราะท่านต้องการให้ทุกคนสามารถพึ่งตนเองได้ โดยไม่ยึดติดกับบุคคลใดบุคคลหนึ่ง
แน่นอน ตามหน้าหนังสือพิมพ์ที่เราเห็นกันทั่ว ๆ ไปนั้นมีแต่ข่าวร้ายมากกว่าข่าวดี แต่การมีข่าวร้ายนั้นถือเป็นเรื่องดีเนื่องจาก ผู้รู้หน้าที่หรือผู้รับผิดชอบจะได้รู้ข่าว และแก้ไขได้ทันท่วงที ซึ่งข้อนี้ ดีกว่าข่าวร้ายถูกปิดบังเอาไว้
แม้อิเฎลจะทราบข่าวร้ายทางพระพุทธศาสนา แต่ก็หาได้หวั่นที่จะหมั่นทำบุญ การตักเตือนพระ เหมือนการให้ธรรมแก่ท่าน แม้ว่าด้วยฐานะของเรา ท่านอาจจะฟังหรือไม่ฟังก็ตาม อิเฎลก็เคยทำมาแล้ว ทั้งยอมเสียหน้าเพราะเพื่อนที่ไปทำบุญด้วยเอาแต่ทักว่าเราผิด เรื่องคือ ตามธรรมวินัยจริง ๆ คือพระจะรับภัตราหารหลังเที่ยงไม่ได้ และท่านก็คงทราบดีว่าอิเฎลจะแนะนำท่าน และเพื่อนของอิเฎลจะค้านเช่นไร
การสิ่งใดที่อิเฎลทำไปแล้ว อิเฎลเห็นว่าดี แม้ว่าจะไม่สำเร็จ อิเฎลก็ภูมิใจที่ได้ทำ
ข่าวเรื่องพระสงฆ์กับไสยศาสตร์ซึ่งทำให้ประชาชนเกิดความหวั่นไหวในศรัทธาในพระพุทธศาสนา นั่นอาจถือว่าเป็นข่าวดีที่เราทุกคนต้องตื่นตัว แก้ไข ปรับปรุง เพราะถ้าข่าวร้ายถูดปิดบังเสียหมด ก็จะไม่มีการปรับปรุงใด ๆ เกิดขึ้น เหมือนกับคนที่ไม่รู้ตัวว่ากำลังจะตาย และก็ตายไปอย่างไม่รู้ที่มาที่ไป
ข่าวร้ายที่กลายเป็นข่าวดีนั้น คือ ฟังแล้วไม่นึกเสียใจ ไม่ตำหนิ แต่ต้องพยายามแก้ไขโดยทันที ส่วนข่าวร้ายที่เป็นข่าวร้ายโดยสมบูรณ์คือเมื่อคนฟังแล้ว ก็เอาแต่บ่น ด่า แต่ไม่ลงมือทำอะไรให้ดีขึ้น
ย้อนกลับไปในอดีต ประเทศอินเดียเป็นประเทศที่นิยมการบูชายันต์ ฆ่าสัตว์ ฆ่าคน เพื่อหวังลาภยศ จนกระทั่งถึงสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าเสด็จไปพบพระเจ้าปเสนทิโกศลและพราหมณ์กำลังทำพิธีบูชายันต์อยู่ พระพุทธเจ้าได้แนะนำให้ท่านเหล่านี้เลิกการบูชายันต์ โดยชี้ให้เห็นธรรม
ธรรม คือ ความจริง ถ้าเราต้องการสิ่งใดก็ตาม เราต้องสร้างเหตุปัจจัยที่เกื้อกูลกัน ตรงกับสิ่งที่เราต้องการ เช่น มนุษย์ที่หวังลาภยศเงินทอง ต้องอาศัยความเพียร มิใช่อ้อนวอนขอเทพเจ้า แต่ถึงจะมีความเพียรมาก แต่ความเพียรนั้นไม่ตรงตามเหตุปัจจัย ผลก็จะไม่เกิดขึ้น
ลักษณะที่ว่าคือ “กรรมไม่ตรงตามธรรม” คือ ถ้าอิเฎลอยากได้เกรด A วิชาอาจารย์พราว แต่ไปเพียรอ่านหนังสือวิชาอื่นเสียจนหมดเวลา ก็จะได้เกรด A วิชาอาจารย์พราวไม่ได้
ปัจจุบันชาวพุทธมากมายหันออกจากธรรม ไปบูชาเทพเจ้า จนหลายครั้งคิดว่าพระพุทธรูปเป็นเทพเจ้าไปด้วย อิเฎลเชื่อว่าเทพเจ้ามีจริงนะ สาเหตุที่ชาวพุทธถูกชักจูงได้ง่ายกว่าศาสนาอื่นเพราะ ศาสนาพุทธไม่มีบทลงโทษคนทำผิดหลักคำสอน ไม่มีการบังคับใด ๆ ทั้งนี้คือให้ชาวพุทธสามารถปฏิบัติตนตามจิตสำนึกของความเป็นชาวพุทธนั่นเอง ถึงกระนั้น อิเฎลก็พบว่า นิสัยผู้ใช้ Social Network หลายคนมักรุมด่า รุมประจาน รังแกคนอื่นในสังคมออนไลน์ นั้นคือบทลงโทษเมื่อพบว่าใครทำผิดต่อศาสนา ซึ่งอิเฎลคิดว่า มันเป็นเรื่องที่น่าอับอายและแย่มาก
ศรัทธาของศาสนาพุทธไม่เหมือนศรัทธาของศาสนาอื่น ที่ใช้บุคคลหรือพระเจ้าเป็นที่ยึดเหนี่ยว แต่ศรัทธาของพระพุทธศาสนาเป็นศรัทธาที่ประกอบด้วยปัญญา มิใช่ว่าทำผิดแล้วจะมีเทพเจ้ามาลงโทษ แต่ถ้าทำผิดแล้วไม่แก้ไข ผลเสียก็จะตามมา
พระพุทธเจ้าได้ดึงคนที่งมงายออกมาสู่ธรรมแล้ว ใยคนไทยจึงอยากย้อนกลับไปใช้ชีวิตเหมือนสมัยก่อนพุทธกาลอีก? แต่อย่างไรก็ตาม อิเฎลคิดว่าคนสมัยใหม่คิดว่าการมีศาสนาเป็นเรื่องงมงาย เพราะคำสอนหลายข้อล้าสมัย
ชาวพุทธแท้ จะไม่รอให้สิ่งภายนอกมาสร้างผลที่ตนต้องการ แต่จะลงมือปฏิบัติจริง
คนที่มีฤทธิ์หลายคน ชอบให้คนอื่นมาพึ่งตน ตนจะได้สำคัญ มีแต่คนมาเอาใจ ท่านเคยได้ยินคำคมด้านล่างหรือไม่
“มีฤทธิ์มีเดช เป็นได้แค่ผู้วิเศษ
หมดกิเลส จึงเป็นพระอรหันต์”
วันหนึ่ง พระพุทธเจ้าพิจารณาว่าต้องไปโปรดชฎิล 3 พี่น้อง ชฎิลคนแรกคือ อุรุเวลกัสสปะ เขาเชื่อว่าการเป็นพระอรหันต์จะต้องมีฤทธิ์ ซึ่งอิเฎลก็ทราบว่าหลายคนคิดแบบนั้น เมื่อเขาเห็นพระพุทธเจ้า เขาก็ไม่ยอมรับฟัง ทำให้พระพุทธเจ้าต้องใช้ฤทธิ์ปราบฤทธิ์ เขาจึงยอมฟัง
ปาฏิหาริย์มี 3 อย่าง คือ
1. อิทธิปาฏิหาริย์ คือ การแสดงฤทธิ์
2. อาเทศนาปาฏิหาริย์ คือ การดักใจ ทายรู้ ความคิดของคนอื่น
3. อนุสาสนีปาฏิหาริย์ คือ การสอนให้เกิดปัญญารู้เห็นความจริง
พระพุทธเจ้าสามารถทำปาฏิหาริยฺทั้ง 3 อย่างนี้ได้ แต่สิ่งที่พระองค์สรรเสริญคือ อนุสาสนีปาฏิหาริย์ อิเฎลทราบว่าท่านไม่ต้องการให้ชาวบ้านมาพึ่งฤทธิ์ตนเอง หรือคอยวอนขอให้ตนช่วย แต่ท่านยื่นธรรมให้ เพื่อให้ชาวบ้านสามารถดำรงค์ชีวิตของตนต่อไปได้
แต่ทำไมบางครั้งเรา ๆ ท่าน ๆ ไปขอพรจากพระพุทธรูปแล้วได้ดั่งที่ขอไว้ พระครูธำมธรครรชิตบอกว่า ณ สถานที่นั้น ๆ มักจะมีเทวดาคอยดูและอยู่ และอาจเป็นไปได้ว่าเทวดาเหล่านั้นไม่ต้องการให้คนดีเดือดร้อน จึงยื่นมือเข้าช่วย
Pingback: หลวงพ่อกลางสวน ย้ายจากเทพสิรินทร์ มาที่วัดเรืองบุญ | Sw-Eden.NET
Pingback: จิตอาสา ไร้ค่า แค่สร้างภาพ นี่หรือคือความหมาย | Sw-Eden.NET
Pingback: ทางไป วัดตะเคียน จังหวัดนนทบุรี | Sw-Eden.NET