(Dog in Case)
Written by Ratajit| June 14, 2021
**งานเขียนของรตจิตรเพื่อประโยชน์แก่เพื่อน ๆ ที่รักน้องหมา ไม่ว่าจะมือใหม่อยากเลี้ยง หรือมือเก่าที่มีปัญหาในการเลี้ยงลูกหมาในกรงครั้งแรก ทั้งนี้มิให้คัดลอก ดัดแปลง หรือนำงานเขียน หรือ รูปถ่ายของรตจิตรไปใช้ไม่ว่ากรณีใด ๆ อย่างเด็ดขาด มิฉะนั้นจะถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ด้านวรรณกรรมและศิลปกรรมทันที
คำนำ
รตจิตรเลี้ยงสุนัขมาหลายปีมาก ส่วนใหญ่จะปล่อยอิสระ ไม่ได้ไว้ในกรง ยกเว้นบางตัว รตจิตรก็มีเหตุผลที่ต้องเลี้ยงในกรง จากประสบการณ์ของรตจิตร ทำให้คิดว่ามีประโยชน์ที่จะแชร์ให้เพื่อน ๆ ที่อาจเจอปัญหาในการเลี้ยงน้องหมาสุดที่รักในกรง และวิธีแก้ไขปัญหาเหล่านั้น ตามรตจิตรมาเลยค่ะ
ปัญหาที่ทำให้สุนัขไม่อยากอยู่กรง และวิธีแก้
พอน้องหมาไม่อยากอยู่กรง ก็ทำให้ทั้งเห่า ทั้งหอน ซึ่งอาจรบกวนเจ้าของ และเพื่อนบ้าน ที่สำคัญรตจิตรคิดว่า ถ้าเจ้าของรักน้องหมา จะรู้สึกทรมานใจที่น้องหมาเห่าหรือหอนจนเหนื่อย ดังนั้นควรหาสาเหตุเพื่อแก้ปัญหาให้ตรงจุด และได้ผลเร็วที่สุด
1.ปัญหาสภาพภายในกรง
– กรงร้อน: ควรตั้งกรงในที่อากาศถ่ายเทได้ดีมาก รตจิตร ตั้งกรงบริเวณทางแยกในบ้าน ทำให้มีลมโกรก
– กรงเหม็น: ควรตรวจเช็คว่าน้องหมามีฉี่ อึ หรือเศษอาหารในกรง? รตจิตรจะกำจัดสิ่งปฏิกูลเหล่านี้ทุกวัน
– กรงเฉอะแฉะ: ถ้าที่นอนของน้องหมาแฉะ ซึ่งอาจไม่ใช่ฉี่ รตจิตรเคยเจอว่าน้องหมาทำน้ำหก น้องหมาไม่ยอมนอนเลย เอาแต่เห่าบอกรตจิตร หรือน้องหมาเครียดแล้วอาเจียน เป็นต้น การตรวจนี้ทำให้รตจิตรรู้ทุกข์สุขของสุนัขด้วย
– ยุงหรือแมลงรบกวน: ควรติดมุ้งลวดให้น้องหมา รตจิตรคิดว่าแมลงบางอย่างอันตราย อาจมีพิษ เช่นตัวต่อ บ่อยครั้งที่รตจิตรเห็นตัวต่อชอบทำรังตามใต้หลาคากรง อาจเข้าไปต่อยน้องหมาได้ มุ้งลวดยังกันยุง ซึ่งเป็นพาหะโรคพยาธิหัวใจในสุนัข
มีอยู่วันหนึ่งที่น้องหมาตัวเก่าของรตจิตรถูกตัวต่อต่อย ในวันที่รตจิตรเจองูเขียวหางไหม้ด้วย โดยรตจิตรไม่รู้เลยว่ามีตัวต่อบริเวณนั้น พอรตจิตรพาน้องหมาไปร.พ.สัตว์ หมอจะให้ฉีดเซรั่มแก้พิษงู (Antivenom) ซึ่งมีโอกาสฉีดได้แค่ 2 ครั้งในชีวิต แต่น้องหมาบางตัวแพ้อาจช็อคตายได้เลย รตจิตรจึงตัดสินใจไม่ให้ฉีด รตจิตรใช้วิธีเฝ้าอาการน้องหมาแทน โชคดีที่ไม่เป็นไร มีแต่อาการปากบวม ซึ่งสันนิษฐานว่ามาจากตัวต่อต่อย
2.น้องหมาเหงา
– น้องหมาติดคน: รตจิตรหาตุ๊กตาเข้าไปเป็นเพื่อนในกรง หรือผ้าห่มที่มีรตจิตรใช้อยู่ น่าจะมีกลิ่นรตจิตร สละให้น้องหมานอน
– น้องหมาต้องการเล่น: รตจิตรใช้วิธีหาของเล่นที่น้องหมาติด หรือกำลังจะติดในอนาคตเข้าไปให้นอนกับน้องหมาในกรง
– สุนัขนอนกลางวันมากไป: รตจิตรจะพยายามเล่นกับน้องหมาช่วงกลางวัน หรือพาวิ่งออกกำลังกายให้เหนื่อย ตอนเย็นก็หลับสบาย
– สุนัขต้องการเรียกร้องความสนใจ: รตจิตรกาจใช้วิธีให้กินกระดูกหนังสัตว์ ให้น้องหมามีอะไรทำในกรง จะได้ไม่เรียกรตจิตร
สาเหตุเหล่านี้ที่ทำให้เกิดปัญหา และวิธีแก้ปัญหาที่รตจิตรแชร์มาข้างต้น รตจิตรเชื่อว่าจะช่วยให้เพื่อนๆ สามารถเอาน้องหมาเข้ากรงได้ในวันต่อๆ ไปนะ อย่างไรก็ตามรตจิตรอยากให้เพื่อนๆ แบ่งปันปัญหา รวมถึงวิธีแก้ปัญหากันมาด้วย ยิ่งเป็นผลดีต่อเพื่อนๆ และน้องหมาสุดที่รักตัวอื่น ๆ ด้วย