อ่านบทความเดียวกัน ส่วนแรก ที่เขียนก่อนหน้านี้
แต่การปิดเรียนให้อยู่บ้าน ผู้สอนจะเอาอะไรมาพิสูจน์หล่ะ ว่านักเรียนนักศึกษาให้คนอื่นทำให้หรือเปล่า ถ้าไม่มีเรื่องโรคระบาด และให้ทุกคนมาเรียนตามปกติ อาจารย์ก็แค่เรียกนักศึกษาคนนั้น ๆ มาและให้วาดบางส่วนให้ดูเพื่อพิสูจน์ว่าทำได้จริง แต่นี่ ภาคเรียนที่ว่า อาจารย์ไม่สามารถเรียกนักศึกษามาได้เลย คือ ยังไง ๆ ก็ต้องปล่อยไป
รู้มั้ยทำไมคนที่เป็นครูต้องโกรธ เพราะมันไม่แฟร์ ไม่ยุติธรรมกับเพื่อน ๆ คนอื่น ๆ ที่ทำด้วยตนเอง ข้าพเจ้าไม่ชอบความรู้สึกแบบนี้เลย เหมือนคนคนหนึ่งกำลังเอาเปรียบคนอื่น ๆ เพียงเพราะรวยกว่า มีเงินจ้างคน คิดคดทุจริต
เรื่องการทำรายงานและวิทยานิพนธ์ก็เช่นกัน ถ้าใครเคยทำงานกับอาจารย์พราว อรุณรังสีเวช ก็จะจำได้ว่า จะเน้นให้สั้น ๆ ขอจำนวนหน้าน้อย ๆ เล่มบาง ๆ ภาษาพูดก็เขียนได้ ขออย่างเดียวให้คิดเอง เขียนเอง อย่าตัดแปะและอย่าจ้างทำ จากการเป็นอาจารย์มาเกือบ 10 ปี คงพูดประโยคเหล่านี้เป็นพันครั้ง พูดกับนักศึกษาทุก ๆ คน ที่ทำงานด้วยกัน พูดทีละคน พูดให้ฟังคนละหลาย ๆ ที
งานวิทยานิพนธ์เป็นงานวิจัย (หรือกึงวิจัย เช่น การทำงานสร้างสรรค์และทดสอบมัน เป็นต้น) และแน่นอนที่นักศึกษาเคยเรียนวิชาวิจัยมาก่อน ซึ่งมีผู้สอนคละกันจำนวนมาก ทั้งคนในและคนนอกสถาบันการศึกษา ซึ่งข้าพเจ้าก็ไม่รู้ว่านักศึกษาเคยเรียนกับใครมา แต่นักศึกษาบางคนจะบอกเราว่า บทที่ 2 ทบทวนวรรณกรรม สามารถ copy ได้ทั้งหมด ตัดแปะแบบไม่ต้องเรียบเรียงเองเลย เพียงแค่ใส่อ้างอิงก็พอ แบบนั้นมันไม่ถูกต้อง ถ้าจบไป สามารถถูกยึดปริญญาได้เลยหากเจ้าของงานมาพบวิทยานิพนธ์และร้องเรียน
นั่นแหละ สิ่งที่ต้องพูดซ้ำ ๆ หลาย ๆ ครั้ง เราก็เข้าใจว่า คนเราได้รับข้อมูลอะไรมาก่อนหรือเรียนอะไรมาก่อน ก็จะยึดว่าสิ่งนั้นถูกต้อง ใคร ๆ ก็เป็น มันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ และเมื่อเรามาสอนเขาเขียนวิจัยภายหลัง เราก็เลยต้องเน้นจนเหนื่อย คงจะเหนื่อยกว่าคนแรกที่สอนเขา สิ่งเดียวที่ต้องศรัทธาคือ เราเหนื่อยและมันจะต้องคุ้มค่า
จริง ๆ ความซื่อสัตย์เป็นสิ่งที่สังคมส่วนรวมต้องการ หลายคนซื่อสัตย์จนถึงวัยทำงาน บางคนซื่อสัตย์จนได้เป็นผู้บริหาร บางคนทุจริต ใช้เส้นสาย ใช้เงินเพื่อได้เป็นผู้บริหาร บางคนเคยซื่อสัตย์และถูกสังคมรอบข้างเปลี่ยนให้กลายเป็นคนโกง บางคนอาจไม่อยากทุจริต แต่ถูกบีบให้ต้องทำเพื่อให้ตนเองอยู่รอด ทั้งหมดนี้ที่พูดมา ไม่น่าเสียดายเท่า คนที่ยังไม่เริ่มทำงาน แต่เริ่มทุจริตตั้งแต่เป็นนักเรียนนักศึกษา
คนที่รับจ้างทำงานให้นักศึกษา รับทำการบ้านให้นักเรียน ถ้าพร้อมใจกันซื่อสัตย์ เปลี่ยนเป็นนำความรู้มาให้คำปรึกษาแทน เช่น รับเป็นที่ปรึกษาทางสถิติให้แก่นักศึกษาปริญญาโท หรือรับแปลงานจากต้นฉบับที่ผู้เรียนเขียนเอง แบบนี้ผู้เรียนก็จะได้เรียนจริง ๆ ไม่ใช่มีแต่จ่ายเงินเพื่อให้เรียนจบ ธุรกิจเอกชนก็ยังดำเนินต่อไปได้ นักศึกษาจะได้ความรู้จากทั้งสองทางคือจากมหาวิทยาลัยและจากที่ปรึกษาภายนอกด้วย แถมอาจนำความรู้จากภายนอกมาถกเถียงกับอาจารย์ในชั้งเรียน สนุกดี ได้แง่คิดใหม่ ๆ มากขึ้น
เขียนโดย ผศ.ดร.พราว อรุณรังสีเวช
อ่านบทความเดียวกัน ส่วนแรก ที่เขียนก่อนหน้านี้