บางคนที่เคยอ่านโพสของสวอิเฎล ก็จะคุ้น ๆ เรื่อง ความยุติธรรมและความเท่าเทียม แต่ถ้าไม่เคยอ่าน สวอิเฎลจะอธิบายให้ฟังคร่าว ๆ ความเท่าเทียมคือให้สิ่งที่เหมือนกันกับคนที่แตกต่าง แต่ความยุติธรรมคือให้สิ่งที่เหมาะสมและให้ความเท่าเทียมในการเข้าถึงโอกาส ตัวอย่างเช่น ให้ที่นั่งที่เหมือนกันหมด ไม่ว่าจะสำหรับเด็ก คนปกติ และคนพิการ แบบนี้คือความเท่าเทียม ซึ่งเด็กก็จะขาลอยจากพื้นหรือปีนขึ้นเก้าอี้ไม่ได้ ส่วนคนพิการอาจต้องใช้พื้นที่มากกว่าที่นั่งที่จัดให้ แต่ถ้าจัดหาเก้าอี้ให้อย่างยุติธรรม เด็กก็จะได้เก้าอี้ที่ขนาดเหมาะกับตน และคนพิการก็จะมีราวจับไว้ให้พยุงตัว เป็นต้น
Copyrights by the Sw Eden, 2022
คนทั่วไปแชร์โพสนี้ ให้ใช้ Link และห้าม copy ไปโพสใหม่
ส่วนนักศึกษาและอาจารย์ให้ block quote หรือ paraphrase และอ้างอิงเสมอ
การให้ใช้ผ้าอนามัยฟรี สวอิเฎลเห็นว่าเป็นเรื่องความยุติธรรมทางเพศ เพราะประจำเดือนเป็นเรื่องธรรมชาติ ที่ผู้หญิงมีภาระเพิ่มเข้ามามากกว่าผู้ชาย ทั้งความน่าเบื่อและค่าใช้จ่าย แต่ถ้าจะให้ผ้าอนามัยฟรีกับทั้งผู้หญิงและผู้ชาย การพูดถึงความเท่าเทียมลักษณะนั้น สวอิเฎลคิดว่าดูประหลาดและโง่
ทางด้านผู้ชายไทย เขามีภาระที่เพิ่มเข้ามามากกว่าผู้หญิงคือ การเกณฑ์ทหารและ รด. การที่จะทำให้เท่าเทียมคือเกณฑ์ผู้หญิงด้วย แต่นั่นไม่เหมาะสมกับหลาย ๆ คนที่มีสรีระและความแข็งแรงไม่เท่าผู้ชาย ดังนั้นการที่จะทำให้เกิดความยุติธรรม สวอิเฎลเสนอให้ โรงเรียนที่นักเรียนชายไป รด. ควรจัดคาบเรียนที่นักเรียนหญิงต้องลงเรียน ดังนั้นมัธยมปลาย นักเรียนหญิงอาจเรียนวิชามากกว่านักเรียนชาย 6 วิชา เป็นต้น ส่วนการเกณฑ์ทหาร อาจให้ผู้หญิงที่มีอายุเท่ากับผู้ชายที่เกณฑ์ทหารไปช่วยงานราชการซึ่งมีหน่วยงานอยู่ทั่วประเทศ คล้ายการเป็นนักศึกษาฝึกงาน แต่ยาวนานและจริงจังกว่า ทำเช่นนี้ก็จะมีความยุติธรรม ได้ช่วยชาติเท่า ๆ กัน และใช้เวลาเท่า ๆ กัน
เพื่อนคนหนึ่งของสวอิเฎลเป็นชาวพุทธ ไม่ใช่คนปกติทั่วไปแต่เป็นคนเคร่ง เพื่อนคนนี้บอกว่า ประจำเดือนเป็นทุกข์ตามธรรมชาติของผู้หญิง และผู้หญิงก็ต้องยอมรับความทุกข์นี้ เพราะกรรมหรือวิบากจากชาติก่อน ทำให้ต้องมาเกิดเป็นผู้หญิง เพื่อนคนนี้ไม่เห็นด้วยกับการให้ผ้าอนามัยฟรีหรือกระทั่งลดภาษีผ้าอนามัย
จากการที่เคยเป็นชาวพุทธ สวอิเฎลก็รู้คำสอนที่ว่า ผู้ชายแย่ ๆ จะมาเกิดเป็นผู้หญิงในชาติถัดไป ซึ่งถ้าคุณไม่ใช่ชาวพุทธที่เคร่ง คุณจะจูนไม่ติดกับความเชื่อของพวกเขา ถ้าเราคิดอย่างคนปกติที่มีมนุษยธรรม เราเห็นอะไรที่ไม่ยุติธรรมเราก็อยากช่วย เราเห็นคนทุกข์ เราก็อยากให้เขาดีขึ้น เราเห็นคนพิการ เราก็อยากอำนวยความสะดวกให้ เราคิดแบบนี้อัตโนมัต โดยไม่ต้องคำนึงว่าชาติก่อน (ที่พิสูจน์ไม่ได้) เขาสร้างวิบากหรือทำกรรมชั่วอะไรมา
แล้วประเทศไทยควรมีผ้าอนามัยฟรีหรือไม่? สวอิเฎลคิดว่ามันเป็นนโยบายที่ดีแต่ไม่ได้จำเป็นที่สุดหรือเร่งด่วนที่สุด แต่ถ้าเมื่อไรก็ตามหรือประเทศใดก็ตามที่ให้ถุงยางอนามัยฟรี เมื่อนั้นผ้าอนามัยก็ควรฟรี เพราะเซ็กซ์ไม่จำเป็นจะต้องมีทุกวันหรือทุกเดือน และเซ็กซ์ก็อดกลั้นกันได้ แตกต่างจากประจำเดือนที่กลั้นกันไม่ได้
แล้วประเทศไทยควรทำอย่างไรกับเรื่องนี้? ถ้าเป็นตอนนี้ เวลานี้ ยุคปัจจุบัน สวอิเฎลคิดว่า เราควรคิดถึงปัญหาการเหยียดเพศเพราะประจำเดือน เช่น การด่าโดยใช้คำว่า สาปกี , การดูถูกว่าประจำเดือนโสโครกทั้ง ๆ ที่ทุกคนก็เคยเรียนมาแล้วว่ามันขับออกมาเมื่อเดือนนั้น ๆ ไม่ได้ตั้งครรภ์ , การกีดกันผู้หญิงในศาสนสถานเพียงเพราะผู้หญิงมีประจำเดือน เป็นต้น สวอิเฎลมีความเห็นส่วนตัวว่า การเหยียดเพศเหล่านี้ควรได้รับการแก้ไขก่อนการแจกผ้าอนามัยฟรีเสียอีก ประจำเดือนเป็นเรื่องน่าเบื่อรายเดือนอยู่แล้ว สังคมก็ไม่ควรเล่นเกมส์จิตวิทยาให้ผู้หญิงรู้สึกแย่ขึ้นไปอีก