สวอิเฎลเคยได้ไปประชุมวิชาการที่ต่างจังหวัดและเจออาจารย์มหาวิทยาลัยอื่น จึงนั่งคุยกัน คนนี้เป็นอาจารย์ผู้หญิง ตำแหน่งทางวิชาการคือ รองศาสตราจารย์ ซึ่งโดยปกติในมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ถ้าได้ตำแหน่งนี้ จะต้องบรรจุเป็นพนักงานประจำ ได้ขึ้นเงินเดือนทุก ๆ ปี แต่อาจารย์คนนี้บอกว่า ตนเองยังคงเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยประเภทชั่วคราว ไม่บรรจุเสียที เงินเดือนน้อย ไม่มีการขึ้นเงินเดือน
Copyrights by the Sw Eden, 2022
คนทั่วไปแชร์โพสนี้ ให้ใช้ Link และห้าม copy ไปโพสใหม่
ส่วนนักศึกษาและอาจารย์ให้ block quote หรือ paraphrase และอ้างอิงเสมอ
สวอิเฎลสงสัยว่ามันเกิดอะไรขึ้น แปลกมาก เลยสอบถามต่อ อาจารย์ท่านนี้บอกว่า คนที่จะได้บรรจุเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยประเภทประจำต้องมีเส้นสาย บางคนมีเส้นสายตั้งแต่แรกเข้า บางคนมาสร้างเองในภายหลัง ด้วยวิธีที่อาจไม่สะอาดนัก
ตอนนั้นสวอิเฎลทำงานในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ซึ่งมีทั้งพนักงานมหาวิทยาลัยประเภทประจำและประเภทชั่วคราวเช่นกัน มันมีเหลื่อมล้ำเรื่องปริมาณงานและเงินเดือน บางคนที่เป็นพนักงานประเภทชั่วคราวที่ไม่มีเส้นสาย จำเป็นต้องทำงานหนักเพื่อให้ตนเองได้ต่อสัญญาจ้างรายปี สวอิเฎลคิดว่านั่นก็เป็นเรื่องเครียดแล้ว แต่พอได้ฟังอาจารย์ท่านนี้พูดถึงที่มหาวิทยาลัยของเขา กลายเป็นเขาเครียดกว่าอีก
อาจารย์ท่านนี้เคยมีเพื่อนสนิท มีตำแหน่งทางวิชาการต่ำกว่า แต่กลับได้บรรจุเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยประเภทประจำ หลังจากเพื่อนสนิทได้บรรจุ เพื่อนก็ทิ้งทันที และไปคบกับพนักงานมหาวิทยาลัยประเภทประจำด้วยกันทั้งกลุ่ม เหมือนแบ่งแยกชนชั้นอย่างชัดเจน คนที่เป็นที่รักของผู้บริหารจะไม่คบหากับคนธรรมดา ๆ แม้คนธรรมดา ๆ จะมีผลงานทางวิชาการมากกว่า
สวอิเฎลรู้สึกเสียใจที่ได้ฟัง อาจารย์หลายคนดิ้นรนเพื่ออยู่รอด ทั้งเรื่องเงินเดือนและความเชิดหน้าชูตาในสังคม ดิ้นรนสร้างผลงานวิชาการ ดิ้นรนหารายได้เข้ามหาวิทยาลัย แต่ท้ายที่สุด สวอิเฎลคิดว่าคนที่ได้รับผลกระทบคือนักศึกษา อาจารย์จะไม่มีเวลาเตรียมการสอน ตรวจงาน ให้ข้อเสนอแนะ และนักศึกษาก็ไม่รู้สาเหตุของปัญหาเหล่านี้หรอกว่าปัญหาอยู่ที่ทั้งระบบเอง และคนที่ควบคุมระบบด้วย อาจารย์แต่ละคนต้องเผชิญกับงานเอกสารที่ไม่มีที่สิ้นสุด และความอยุติธรรม ความโชคดีโชคร้ายคือได้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยแบบไหน
สวอิเฎลไม่ได้ขอที่อยู่ติดต่ออาจารย์ท่านนั้นไว้ เราแค่คุยกันเพราะนั่งใกล้กัน นำเสนองานวิจัยในห้องเดียวกัน ความจริงสวอิเฎลก็ได้เพื่อนอีกคนเป็นนักศึกษาปริญญาโท คนนี้คุยสนุกเลยขอเป็นเพื่อนในสังคมออนไลน์ วันนั้นสวอิเฎลโดนผู้ทรงคนนึงในห้องติ ๆ ๆ เพื่อนใหม่คนนี้ก็ปลอบใจว่า ผู้ทรงเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ของเธอเอง และก็ติแบบนี้ประจำ ไม่ต้องเครียดมาก สวอิเฎลเลยไม่เครียด พอจบการประชุมวิชาการ ทางผู้จัดก็ส่งบทความมาให้แก้ โดนแก้ไม่เยอะ ก็ดี โดยรวมชอบประชุมวิชาการครั้งนั้น และยังรู้สึกเสียใจกับประสบการณ์ของอาจารย์ท่านแรกที่เล่าให้ฟัง