งานวิจัย การวิเคราะห์ภาพยนตร์ All the Money in the World ผ่านมุมมองของนักสตรีนิยม


การวิเคราะห์ภาพยนตร์ ฆ่า ไถ่ อำมหิต ผ่านมุมมองของนักสตรีนิยม
The Analysis of the Film, All the Money in the World, through the Perspective of Feminists

1 มัณฑิรา สีด้วง Muntira Seedoung
2 พราว อรุณรังสีเวช Proud Arunrangsiwed
1,2 คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา
Faculty of Management Science, Suan Sunandha Rajabhat University

Download PDF

© Copyright information
Proud Arunrangsiwed & Muntira Seedoung

เขียนอ้างอิงเป็นภาษาไทยโดย: มัณฑิรา สีด้วง, และ พราว อรุณรังสีเวช. (2562). การวิเคราะห์ภาพยนตร์ ฆ่า ไถ่ อำมหิต ผ่านมุมมองของนักสตรีนิยม. ใน การประชุมวิชาการระดับชาติ ด้านการประกันคุณภาพการศึกษา ครั้งที่ 2 (หน้า 422-427) (15 กุมภาพันธ์ 2562). กาญจนบุรี: มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี.
Cite this paper as: Seedoung, M., & Arunrangsiwed, P. (2019). The Analysis of the Film, All the Money in the World, through the Perspective of Feminists. Paper presented at NCQA2019: The 2nd National Conference of Quality Assurance (pp. 422-427) (February, 15, 2019). Kanchanaburi: Kanchanaburi Rajabhat University.

บทคัดย่อ
บทความนี้เขียนขึ้นมาเพื่อวิเคราะห์บทบาทของสตรีในภาพยนตร์เรื่อง “ฆ่า ไถ่ อำมหิต” ซึ่งถูกกำกับโดย ริดลีย์ สก็อตต์ ในเนื้อเรื่องแสดงให้เห็นถึงความพยายามของผู้เป็นแม่ที่จะไถ่ตัวบุตรชายจากโจรลักพาตัวแม้ว่าตนเองจะมีอำนาจน้อย ความไม่เท่าเทียมกันของอำนาจในเรื่องถูกถ่ายทอดผ่านทางความแตกต่างของตัวละคร เกล หรือแม่ของเด็กที่ถูกจับไปเรียกค่าไถ่ และ เจ พอล เก็ตตี้ ซึ่งเป็นมหาเศรษฐีแต่กลับไม่ต้องการจ่ายเงินจำนวนมากให้กับโจร ภาพยนตร์เรื่องนี้ถือว่ามีการเสริมอำนาจแก่สตรี แสดงให้เห็นถึงการดิ้นรนของเกล แม้ว่าเธอแทบไม่ได้ความช่วยเหลือจาก เจ พอล เก็ตตี้ เลย นอกจากนี้ เจ พอล เก็ตตี้ ยังมีบทบาทดูถูกเกลหรือเพศหญิง โดยไม่ต้องการให้เงินเธอ ไม่ให้อำนาจ ตลอดจนไม่ไว้ใจเธอ และก่อนหน้านี้เกลยังถูกเจ พอล เก็ตตี้หลอกลวงอีกด้วย เพราะภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ถูกสร้างขึ้นจากเหตุการณ์จริง ผู้เขียนบทความนี้แนะนำว่าภาพยนตร์ที่สร้างขึ้นจากเรื่องที่แต่งขึ้นเองควรที่จะสามารถให้บทบาทที่ดีขึ้นแก่ตัวละครเพศหญิงได้
คำสำคัญ: สตรีนิยม, อำนาจ, ภาพยนตร์

ABSTRACT
This article was written to fathom the role of the main female character in the movie, “All the Money in the World,” which was directed by Ridley Scott, portraying the effort of powerless mother who tries to retrieve her son from the kidnapping. The power inequality was strongly shown in the film, compared between Gail, the powerless mother of kidnapped son, and J. Paul Getty, the powerful billionaire, who did not need to pay much money to criminal. This film might be considered as female empowerment, since the main female character, Gail, fight to help for her own son, even there was lack of help from J. Paul Getty. The film shows that J. Paul Getty discriminated against Gail by not providing her the money, power, and trust. Earlier, Gail was also deceived by him, too. Because this film was written based on a true story, the authors of this paper suggest that the fictional films must be able to provide a better role for women.
Keywords: Feminism, Power, Films

Download PDF

© Copyright information
Proud Arunrangsiwed & Muntira Seedoung

– – – – – – – – – – – – – – – – – – –

บทนำ
ในอดีตความเท่าเทียมกันของชายและหญิงนั้นแตกต่างกันมาก ซึ่งผู้หญิงเคยเดินขบวนเรียกร้องให้ตนมีสิทธิ์เท่าเทียมกับเพศชายในการลงคะแนนเสียง การทำงาน และจนกระทั่งในปัจจุบัน ประเด็นของสิทธิสตรีได้มุ่งเน้นไปยังสตรีผิวสี และเพศทางเลือด ส่วนในงานวิชาการของประเทศไทยนั้นชี้ว่า ในปัจจุบันทั้งสองเพศมีความเสมอภาคกันมากขึ้นโดยผู้หญิงไม่จำเป็นคำนำหน้าชื่อว่า “นาง” หลังแต่งงานอีกต่อไป แต่อย่างไรก็ตามสังคมไทยยังเห็นว่าผู้ชายมีความเหมาะสมที่จะเป็นผู้บริหารมากกว่าผู้หญิง (กมลพร กัลยาณมิตร, 2557) สำหรับผู้หญิงที่จะได้รับการยอมรับว่าอยู่ในสถานะสูงทางสังคม โฆษณาหรือสื่อมักจะบ่งบอกว่าผู้หญิงต้องใช้สินค้ายี่ห้อที่มีชื่อเสียง จึงจะยกสถานะของตนให้สูงขึ้นได้ (ภพ สวัสดี และ สิริวรรณ นันทจันทูล, 2558)

ในขณะที่สังคมทั่วไปได้รับการยอมรับว่าผู้ชายต้องมีความเป็นผู้นำ เข้มแข็ง และมีอำนาจมากกว่าผู้หญิง แต่ในทางกลับกันในสังคมของกลุ่มอีโม (Emo) ผู้ชายนั้นสามารถแสดงออกทางอารมณ์หรือแต่งกายอย่างผู้หญิงได้ (พราว อรุณรังสีเวช และ ธนิต พฤกธรา, 2560) ซึ่งในสังคมออนไลน์ทั้งสองเพศที่มีพฤติกรรมการถ่ายภาพตนเอง (Selfie) จะโพสรูปในรูปแบบที่ทำให้ตัวเองดูเป็นเครื่องยั่วยวนทางเพศและยังส่งผลให้เกิดพฤติกรรมการอดอาหาร (Cohen, Newton-John, & Slater, 2018)

โดยที่บทความนี้จะกล่าวถึงบทบาทของสตรีในสื่อภาพยนตร์ เรื่อง All the Money in the World (ฆ่า ไถ่ อำมหิต) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฐานะมารดาที่มีอำนาจน้อยกว่าผู้ชายและยังได้รับการดูถูกจากผู้ชาย ในส่วนต่อไปจะกล่าวถึงบทบาทสตรีในสื่อที่เคยถูกวิเคราะห์ในอดีต

บทบาทของผู้หญิงใน Motion Picture
Motion Picture หมายถึงภาพยนตร์ รายการโทรทัศน์ การ์ตูน ตลอดจนภาพยนตร์แอนิเมชัน หนังสือนวนิยายที่ได้ถูกดัดแปลงนำมาทำเป็นภาพยนตร์อย่างเช่นเรื่อง สี่แผ่นดิน ได้นำเสนอบทบาทของผู้หญิงที่ผู้ชายต้องการให้เป็น ซึ่งแตกต่างจากผู้หญิงในสังคมปัจจุบัน ที่มีปิตาธิปไตย (Patriarchy) ลดน้อยลง (พรสวรรค์ สุวรรณธาดา, 2554) ในภาพยนตร์อินเดียก็เช่นกันที่ผู้หญิงทั่วไปจะมีบทบาททางสังคมน้อยกว่าผู้ชาย แต่เธอจะมีความเข้มแข็งขึ้นเมื่อได้รับการกระทบกระเทือนทางจิตใจ เช่น การสูญเสียลูกและสามี (ศุภานิช คำบุศย์ และ โสภนา ศรีจำปา, 2558) ส่วนในภาพยนตร์แนวนวนิยายวิทยาศาสตร์ เรื่อง Blade Runner (เบลดรันเนอร์) ซึ่งมีตัวละครหญิงที่โดดเด่นอยู่ 3 ตัว คือ ราเชวล์ (Rachael), พริส (Pris) และ โซร่า (Zhora) โดยตัวละครฝ่ายดีจะไม่ได้ตัดสินใจด้วยตัวเองและยอมให้ผู้ชายใช้อำนาจกับตนเอง ในทางกลับกันตัวร้ายเพศหญิงจะตัดสินใจด้วยตัวเอง ใช้ความรุนแรงและก่ออาชญากรรม (Zeitz, 2016)

ในด้านรายการโทรทัศน์ที่ผลิตให้เยาวชนรับชม ผู้หญิงมักจะถูกตัดสินจากรูปลักษณ์ภายนอกและเป็นฝ่ายถูกกระทำในลักษณะที่ไม่เกี่ยวกับเพศ (Rousseau, Eggermont, Bels, & Van den Bulck, 2018) ภาพยนตร์แอนิเมชันเจ้าหญิงดิสนีย์ (Disney Princess Movies) ก็เช่นกัน สามารถทำให้ทั้งเด็กหญิงและเด็กชายได้เรียนรู้ว่าการเหมารวมทางเพศ (Gender Stereotype) (Coyne, Linder, Rasmussen, Nelson, & Birkbeck, 2016) โดยภาพยนตร์แอนิเมชันดิสนีย์ก่อนปี ค.ศ. 2009 ตัวละครหญิงจะมีลักษณะเป็นฝ่ายถูกกระทำ (Passive) แต่ในหนังสือการ์ตูน (Comic Book) ซึ่งเป็นสื่อสำหรับผู้ชายกลับมีผู้หญิงที่เป็นฝ่ายตัดสินใจได้โดยตัวเองตั้งแต่ปี ค.ศ. 1941 (พราว อรุณรังสีเวช และ มานนท์ ผสมสัตย์, 2559)

บทบาทของผู้หญิงใน Comics
ในหนังสือการ์ตูน (Comic Book) ซุปเปอร์ฮีโร่ผู้หญิงจากค่ายดีซีคอมิกส์ (DC Comics) จะเป็นฝ่ายตัดสินใจเอง ต่อสู้ก่อน แก้ปัญหาก่อนผู้ชายและก่อนที่ผู้ร้ายจะทำเรื่องร้ายแรงขึ้น ซึ่งแตกต่างจากค่ายมาร์เวลคอมิกส์ (Marvel Comics) ซึ่งค่ายมาร์เวลคอมิกส์ นี้ซุปเปอร์ฮีโร่ผู้หญิงจะดูบอบบาง ถูกกระทำก่อนและต้องการความช่วยเหลือจากฝ่ายชาย (Dunne, 2006) ในยุคสมัยหนึ่งบทบาทของตัวละครซุปเปอร์ฮีโร่หญิงอย่างวันเดอร์วูแมน (Wonder Woman) ได้เปลี่ยนไปจากที่เป็นซุปเปอร์ฮีโร่กลายเป็นคนธรรมดา ที่ต่อสู้ชีวิตในยุคที่สังคมเหลื่อมล้ำและความไม่เท่าเทียมกันทางเพศในหนังสือการ์ตูนปี ค.ศ.1970s (Matsuuchi, 2012) ถึงแม้ว่าวันเดอร์วูแมน (Wonder Woman) ถือว่าเป็นตัวละครที่เป็นตัวแทนของแนวคิดสตรีนิยมได้ดีที่สุด แต่อาวุธที่เธอใช้นั้นเป็นแซ่ (Lasso) ซึ่งมีความหมายเกี่ยวกับการควบคุมผู้ชายทางเพศ (Lavin, 1998) และในภาพยนตร์จัสติซ ลีก (Justice League) ปี 2017 บทบาทของเธอได้ถูกวิภาควิจารย์โดยกลุ่มสตรีนิยม เพราะหากไม่มี Batman กระตุ้น เธอก็จะเห็นแก่ตัวและไม่นำพลังพิเศษออกมาช่วยเหลือใคร

ในด้านของสำนักพิมพ์มาร์เวลคอมิกส์ ตัวละครเด็กหญิงกระรอก (Squirrel Girl) นั้นซึ่งมีพลังแปลกที่สามารถควบคุมกระรอกและสามารถโค่นล้มธานอส (Thanos) ได้ แต่เธอนั้นกลับไม่ได้เข้าทีมอเวนเจอร์ส (Avengers) เพราะไอรอนแมน (Iron Man) ไล่เธอกลับไปเรียนหนังสือ (Goodrum, 2014) ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้หญิงที่มีอายุน้อยไม่ได้รับการยอมรับในทีมที่ผู้ชายมีอำนาจ ในทีมซุปเปอร์ฮีโร่หญิงมาร์เวล ดิวา (Marvel Divas) มีการแสดงให้เห็นว่าตัวละครผู้หญิงทำให้ตนเองเป็นวัตถุทางเพศ เช่น การยั่วยวน และมีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายไม่ซ้ำหน้า (Sawyer, 2014)

ส่วนการ์ตูนในยุคทองแดง (Bronze Age of Comic Books) หรือ ในช่วงสงครามเย็น Isekeije (2010) ได้เปรียบเทียบบทบาทตัวละครหลักเพศหญิงจากหนังสือการ์ตูนเรื่อง Empire และวอชท์เมน (Watchmen) และพบว่าตัวละครฝ่ายดีมักจะเป็นฝ่ายถูกกระทำและอ่อนแอ ต้องมีผู้ชายคอยช่วยเหลือเสมอ แต่ตัวร้ายจะเป็นฝ่ายที่สามารถตัดสินใจเองได้ สร้างความรุนแรงและเริ่มลงมือกระทำก่อน รวมไปถึงการมีเพศสัมพันธ์ด้านบุกรุก (Sexually Active) เช่น ข่มขืนนักโทษ งานวิจัยของ Keating (2012) ได้สนับสนุนข้อค้นพบนี้ คือตัวละครหญิงฝ่ายดี ซอวลี่ (Sally) และ ลอรี่ (Laurie) ในเรื่อง วอชท์เมน ถึงแม้จะเป็นการ์ตูนแนวซูเปอร์ฮีโร่ แต่บทบาทของผู้หญิงไม่ได้แตกต่างจากบรรทัดฐานทางเพศแบบดั้งเดิม (Tradition Sexual Norm) นั่นคือ ซอวลี่จะมีใจยึดติดกับผู้ชายถึงแม้ว่าผู้ชายคนนั้นจะเลวและตบตีทำร้ายตนเองก็ตาม ส่วนบทบาทของ ลอรี่เธอไม่สามารถอยู่เองได้โดยลำพัง จะต้องมีผู้ชายอยู่ด้วยตลอด แม้ว่าจะเลิกกับผู้ชายคนหนึ่งไป เธอก็จะออกจากบ้านและไปหาผู้ชายอีกคนทันที (Keating, 2012)

บทบาทความเท่าเทียมกันทางเพศในสื่อบันเทิง
ในภาพยนตร์สยองขวัญแนวชำแหละ (Slasher Film) ที่มี นางเอกที่ถูกไล่ล่าโดยฆาตรกรต่อเนื่อง (Final Girl) บทบาทของนางเอกเหล่านี้เหมือนบรรทัดฐานทางเพศดั้งเดิม (Gender Norm) และระบบปิตาธิปไตย โดยที่ผู้หญิงมักจะได้ความช่วยเหลือจากผู้ชายก่อน แต่หลังจากผู้ชายตามทั้งเรื่องแล้ว เธอจึงจะต่อสู้ด้วยความคิด ความสามารถและความแข็งแกร่งของเธอเอง ทำให้ Boer (2014) ตีความว่าเป็นรูปแบบการส่งเสริมพลังและเพื่อการยอมรับสตรี (Female Empowerment)

ระบบปิตาธิปไตยนี้ สามารถถูกพบในงานวิชาการเกี่ยวกับการสื่อสารและความสัมพันธ์ในครอบครัวมาตั้งแต่ในอดีต เช่น อำนาจของสามี และการทำร้ายภรรยา (Yllo & Straus, 2017) ซึ่งต่อมา ระบบปิตาธิปไตยยังสามารถพบได้ในงานวิชาการที่ศึกษาเกี่ยวกับการสื่อสารในสถานที่ทำงาน การค้า และธุรกิจที่เพศชายมักมีอำนาจมากกว่าผู้หญิง และผู้หญิงหลายคนอาจยอมรับระบบนี้โดยไม่รู้ตัว (Besse, 2018)

ในงานศึกษาด้านภาพยนตร์ ภาพยนตร์หลายเรื่องที่สลับบทบาทของผู้ชายและผู้หญิง เช่น ภาพยนตร์แอ็คชันที่ผู้หญิงได้รับบทเป็นตัวเอก (Female Action Heroes) และให้บทบาทของผู้ชายนั้นดูตลกและเป็นฝ่ายถูกกระทำ (Bailey, 2016) ซึ่งภาพยนตร์ชนิดนี้ มักจะมีตัวละครชายเป็นผู้ออกคำสั่ง (Handler) ของตัวละครหญิงที่เก่งด้านการต่อสู้ ซึ่งอนุญาตให้ผู้ชมเพศชายรู้สึกอิน เหมือนเป็นได้ทั้งตัวละครหญิงเองและเป็นผู้ชายที่ควบคุมพวกเธอได้ เช่น ภาพยนตร์เรื่องนางฟ้าชาร์ลี (Charlie’s Angels), กันสลิงเกอร์ เกิร์ล ดอกไม้เพชฌฆาต (Gunslinger Girl), และ ฮิตเกิวล์ (Hit-Girl) เป็นต้น (Kittredge, 2014) การนี้มีความคล้ายคลึงกับงานวิจัยเกี่ยวกับภาพยนตร์โทรทัศน์หรือซีรีส์ ที่พบว่าทั้งเพศชายและเพศหญิงมีการถูกกระทำหรือทำให้เป็นวัตถุทางเพศ (Objectification) เท่า ๆ กัน (Rousseau, Eggermont, Bels, & Van den Bulck, 2018) สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าในปัจจุบันภาพยนตร์นำเสนอบทบาทความเท่าเทียมกันทางเพศมากขึ้น

ในด้านการเขียนแฟนฟิกเกย์ หรือนิยายที่แต่งโดยสาววาย (Slash or Yaoi Fan Fiction) ซึ่งแฟน ๆ ผู้หญิงจะนำตัวละครชายจากภาพยนตร์ การ์ตูน หรือ ดารานักร้องจริง มาเรียบเรียงหรือวาดขึ้นใหม่ให้เป็นเกย์ สาววายเหล่านี้มักจะรู้สึกได้ว่าตนเองหรือผู้แต่งเรื่องนั้น ๆ สามารถกำหนดชีวิตผู้ชายได้ ผู้ชายจะเป็นวัตถุทางเพศ และเป็นตัวดำเนินเรื่องสำหรับเธอ ซึ่งเธอเป็นคนควบคุมที่จะกำหนดชีวิตพวกเขาในเรื่องที่แต่งนั้น (Arunrangsiwed, Ounpipat, & Cheachainart, 2018)

จากการทบทวนวรรณกรรม จะพบได้ว่าการวิเคราะห์เนื้อหาในสื่อบันเทิงมักเกิดขึ้นในบทความภาษาอังกฤษ แต่งานศึกษาสื่อในประเทศไทยยังพบได้น้อย ดังนั้นบทความนี้จึงมุ่งวิเคราะห์บทบาทของตัวละครด้วยแนวคิดสตรีนิยมโดยเขียนเป็นภาษาไทย

ในส่วนต่อไปจะเป็นบทวิเคราะห์บทบาทของผู้หญิงในภาพยนตร์เรื่อง ฆ่า ไถ่ อำมหิต (All the Money in the World) ซึ่งมีตัวเอกในเรื่องคือเกล เรื่องย่อของภาพยนตร์เรื่องนี้คือ หลานชายของมหาเศรษฐี เจ พอล เก็ตตี้ (J. Paul Getty) ถูกลักพาตัวเพื่อเรียกค่าไถ่ มารดาของเขาที่ชื่อเกล (Gail) พยายามขอให้เก็ตตี้จ่ายเงินเป็นค่าไถ่ เพื่อให้บุตรชายของตนเองปลอดภัย แต่เก็ตตี้ไม่ต้องการจ่ายเงินเป็นจำนวนมาก ทำให้ระยะเวลาที่บุตรชายของเกลอยู่กับโจรนั้นยาวนานขึ้น ซึ่งโจรได้โทรมาข่มขู่หลายครั้งและตัดใบหูของเขาส่งไปรษณีมาขู่เพื่อเร่งเอาเงินค่าไถ่ ท้ายที่สุดราคาค่าไถ่ลดลง เกลได้โกหกว่ามีเงินที่จะจ่าย ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้มีเงินตามจำนวนที่โจรเรียกร้อง เก็ตตี้เห็นเช่นนั้นจึงตัดสินใจสมทบเงินส่วนต่าง ทำให้โจรยอมนำตัวบุตรชายของเกลมาคืน และในตอนจบ เก็ตตี้ ถึงแก่ความตายด้วยโรคชรา บุตรชายของเกลจะเป็นผู้ที่จะได้รับมรดกทั้งหมด แต่ยังมีอายุไม่มากพอ เกลจึงรับหน้าที่ดูแลกิจการและทรัพย์สินทั้งหมดแทนชั่วคราว

บทบาทการเป็นฝ่ายถูกกระทำ (Passive) ของตัวละครหญิง
ในภาพยนตร์เรื่องฆ่า ไถ่ อำมหิต (All the Money in the World) แสดงให้เห็นถึงระบบปิตาธิปไตยอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีอำนาจทางการเงิน และการตัดสินใจของ เจ พอล เก็ตตี้ (J. Paul Getty) หรือเก็ตตี้ซึ่งเป็นพ่อสามีของนางเอกที่ชื่อเกล (Gail) เกลตัดสินใจได้ไปขอความช่วยเหลือจากเก็ตตี้เมื่อลูกชายเธอโดนจับตัวไปเรียกค่าไถ่ เธอหวังว่าเก็ตตี้จะช่วยลูกของเธอได้ เพราะเขามีเงินจำนวนมากเกินพอที่จะนำไปเป็นค่าไถ่ตัวลูกชายคืนมา เหตุการณ์นี้แสดงให้เห็นว่าเธอเห็นว่าผู้ชายและเงินของเขามีอำนาจมากกว่าตัวเธอ แต่ท้ายที่สุดเธอก็ถูกปฏิเสธการช่วยเหลือนั้น แสดงให้เห็นว่า แม้เธอจะยอมรับอำนาจของผู้ชาย ผู้ชายในเรื่องก็ไม่เห็นว่าสิ่งเธอขอเป็นสิ่งสำคัญ

ในการโต้ตอบเรื่องนี้ของเก็ตตี้ เขาได้ใช้วิธีการสืบทอดอำนาจจากตนเองซึ่งเป็นเพศชาย ไปสู่เพศชายอีกคนหนึ่ง คือ เชส (Chase) ให้ไปดูแลและต่อรองเรื่องการใช้เงินมาประกันตัวหลานของเขาโดยใช้ทุกวิถีทางเพื่อให้ใช้เงินประกันตัวหลานให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ แสดงให้เห็นว่า เก็ตตี้ไว้วางใจผู้ชายที่ทำงานให้ตนเองมากกว่าผู้ที่เป็นแม่ของหลานที่ถูกประกันตัวเสียอีก

ในช่วงแรกของการเจรจาต่อรองกับโจรทางโทรศัพท์ เกลซึ่งเป็นแม่นั้นกลับถูกกีดกันจากเชสไม่ให้คุยโทรศัพท์ เธอต้องยอมให้เชสเป็นผู้เจรจา แม้ใจจริงเธอต้องการจะทำเอง กล่าวคือผู้ชายไม่ว่าจะเก็ตตี้หรือเชส มีอำนาจเหนือกว่าเธอในการเจรจาและการตัดสินใจ ผู้เป็นแม่กลับมีอำนาจการตัดสินใจเรื่องของลูกตนเองน้อยกว่าญาติที่ห่างหรือคนที่ทำงานให้ญาติดังกล่าว

ในภาพยนตร์เรื่องนี้ได้เล่าเรื่องถึงอดีตที่เก็ตตี้เคยให้ตุ๊กตาไม้กับลูกของเธอในวัยเด็กของลูกเธอ เก็ตตี้เล่าให้เขาฟังว่า ตุ๊กตามีราคาแพงมาก ซึ่งเกลได้ฟังและเชื่อว่าตุ๊กตาดังกล่าวมีมูลค่าสูงตั้งแต่บัดนั้นมา เมื่อลูกเธอถูกจับไปเรียกค่าไถ่ เธอคิดว่าสามารถนำมันไปขาย แต่เธอกลับพบว่าเธอโดนหลอก เพราะตุ๊กตานั้นไม่ได้มีมูลค่าสูงตามที่เก็ตตี้เคยกล่าวไว้ แต่เป็นของราคาถูกที่หาได้ทั่วไป การที่เก็ตตี้หลอกลวงเกลและลูก แสดงให้เห็นว่าเก็ตตี้ซึ่งเป็นผู้ชายอายุมาก ได้ดูถูกผู้หญิงและลูกชายของเธอว่าเบาปัญญา และการที่เธอโดนหลอกมาหลายปีตั้งแต่ลูกชายเธอยังเป็นเด็กจนถึงเวลาที่ถูกชายถูกเรียกค่าไถ่ แสดงให้เห็นว่า เธอไว้วางใจในตัวผู้ชายมาโดยตลอด

แม้ว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จะมีเหตุการณ์ที่ผู้หญิงด้อยอำนาจ ถูกดูถูก แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้นำเสนอบทบาทที่ดิ้นรนของเธอ ซึ่งอาจให้แง่คิดกับผู้หญิงให้ไว้วางใจผู้ชายน้อยลง และมีความมุ่งมันที่จะดำเนินชีวิตไปสู่จุดหมาย หรือฝ่าฟันอุปสรรค์ด้วยความเข้มแข็งของเธอเอง

บทบาทการเป็นฝ่ายกระทำ (Active) ของตัวละครหญิง
ในขณะที่เกลซึ่งเป็นผู้หญิงที่มีบทบาทโดดเด่นคนเดียวในภาพยนตร์นั้น ได้ถูกกดขี่และได้ยอมรับว่าผู้ชายมีอำนาจทางการตัดสินใจและการเงินในต้นเรื่อง ในภาพยนตร์เรื่องนี้ได้แสดงถึงการตัดสินใจอย่างเด็ดเดี่ยวของเธอและการทำหน้าที่เป็นแม่ที่ดี

เนื่องจากลูกชายของเธออาศัยอยู่กับพ่อ และทำให้เขาติดยาเสพติด เธอสามารถตัดสินใจด้วยตนเองอย่างมั่นใจ เธอมั่นใจในความรับผิดชอบของตนเองว่าเธอสามารถเลี้ยงดูลูกได้ แม้จะมีฐานะทางการเงินปานกลางเหมือนคนธรรมดา ๆ คนหนึ่ง ทั้งนี้เธอไม่อยากให้ลูกถูกอุปการะโดยผู้ปกครองที่ไม่มีวุฒิภาวะเพียงพอจากการเสพยา

แม้เกลจะให้เชสตัดสินใจแทนตนเองมาตลอดเกือบทั้งเรื่อง ท้ายที่สุดเกลตัดสินใจหลอกโจรว่าจะให้เงินตามจำนวนในสัญญาจริง แม้ว่า ณ ขณะนั้นเธอมีเงินไม่ถึงจำนวนที่โจรเรียก การตัดสินใจของเกลในครั้งนั้น เธอมีความเด็ดเดี่ยว แต่อย่างไรก็ตาม แผนจะสำเร็จไม่ได้หากเก็ตตี้ไม่ตัดสินใจช่วยด้วยเงินจำนวนตามที่โจรเรียกร้องจริง ถึงบทบาทของผู้หญิงในเหตุการณ์นี้จะดูเป็นฝ่ายรุก (Active) แต่เธอก็ต้องอาศัยความช่วยเหลือจากผู้ชาย ซึ่งถูกตีความเป็นฝ่ายถูกกระทำ (Passive)

ในระหว่างที่เกลและเชสต้องประสานงานกันตลอดเรื่อง ทำให้บทบาททางอำนาจของทั้งสองเพศมีความเปลี่ยนไป จากเดิมที่เชสต้องเป็นผู้ตัดสินใจเพียงคนเดียว เชสมีอำนาจที่จะดูแลเรื่องตัวประกันและเชสไม่ยอมให้เกลเข้ามายุ่งเพราะเห็นว่าเธอเป็นแค่ผู้หญิง แต่ในช่วงท้ายเรื่อง เกลกับเชสมีความเท่าเทียมกันมากขึ้น ในหลายฉากที่เชสยอมให้เธอเป็นผู้นำ และเชสได้ตัดสินใจช่วยเกล แทนที่จะทำตามคำสั่งของเก็ตตี้ผู้เป็นนายจ้างเหมือนแต่ก่อน เขาเจรจาต่อรองกับเก็ตตี้เพื่อให้เก็ตตี้ยอมจ่ายเงินส่วนต่าง

กระบวนการทั้งหมดที่เกี่ยวกับการต่อรอง การหาเงิน บทบาทของเกล แสดงให้เห็นว่าผู้เป็นแม่มีความรักและมีความสามารถมากกว่าสามี ซึ่งสามีของเธอเมายาและขาดความรับผิดชอบ แต่อย่างไรก็ตามเกลก็ไม่มีอำนาจเทียบเท่าเก็ตตี้เพราะด้วยอำนาจของเงิน แต่เมื่อเก็ตตี้ได้หมดลมหายใจตามอายุขัย อำนาจทรัพย์สินและสมบัติทั้งหมดตกเป็นของหลานชายของเขาซึ่งคือลูกชายของเกล อำนาจนั้นได้กลายเป็นของเกลโดยเธอไม่ได้ใช้ความสามารถใดเลย

เหตุการณ์นี้สามารถตีความได้ว่า แม้ภาพยนตร์จะจบลงโดยให้อำนาจแก่ผู้หญิง หรือ เกลนั้น แต่การได้มาซึ่งอำนาจของเธอ ไม่ได้มาจากตัวเธอเอง หากแต่มาจากผู้ชาย ด้วยสาเหตุ 2 ประการ คือ (1) เก็ตตี้เสียชีวิต เป็นการลงจากอำนาจของผู้ชายที่มีอำนาจมากล้นด้วยเหตุผลบังคับ และ (2) เกลได้อำนาจควบคุมธุรกิจของเก็ตตี้ เพราะเกลมีลูกชายและลูกของเธอได้รับมรดก แต่ด้วยลูกชายของเธอนั้นยังไม่มีวุฒิภาวะมากพอ เธอจึงเป็นคนได้ดูแลทรัพย์สินทั้งหมดแทนในฐานะผู้ปกครอง

สรุปและอภิปรายผล
ด้วยภาพยนตร์เรื่อง ฆ่า ไถ่ อำมหิต (All the Money in the World) ได้บอกเล่าถึงอำนาจทางสังคมในช่วง ค.ศ. 1973 ซึ่งผู้หญิงต้องต่อสู้ในระบอบปิตาธิปไตย ผู้เขียนจึงได้เลือกภาพยนตร์เรื่องนี้มาวิเคราะห์บทบาทของสตรี เกล ตัวละครหลักเพศหญิงในเรื่องนี้ มีความเด็ดเดี่ยว และกล้าตัดสินใจ เมื่อทราบว่าเธอไม่สามารถยึดอำนาจของผู้ชายเป็นที่พึ่งได้อีกต่อไป แต่ด้วยโครงสร้างของสังคมและเป็นภาพยนตร์ที่อิงจากเหตุการณ์จริง อาจไม่สามารถสร้างตัวละครหรือลักษณะสังคมให้มีความเท่าเทียมกันทางเพศได้เทียบเท่านิยายหรือภาพยนตร์ที่ผู้สร้างแต่งขึ้นเอง ดังนั้น ผู้เขียนจึงแนะนำให้ผู้เขียนบทหรือผู้สร้างภาพยนตร์ที่มีโอกาสในการสร้างโลกในอุดมคติแห่งความเท่าเทียมกันทางเพศและชนชั้น ได้นำเสนอมุมมองที่อาจช่วยเปลี่ยนโลกความจริงให้เป็นสังคมที่น่าอยู่มากขึ้น

Download PDF

© Copyright information
Proud Arunrangsiwed & Muntira Seedoung

กิตติกรรมประกาศ
ขอขอบคุณ กองนโยบายและแผน มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา (http://plan.ssru.ac.th/) ที่ได้สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการประชุมวิชาการในครั้งนี้

เอกสารอ้างอิง
กมลพร กัลยาณมิตร. (2557). ความเสมอภาคหญิงชายในระบบราชการไทย: ความแตกต่างหรือความเหมือนในการบริหาร. จันทรเกษมสาร, 20(38), 1-8.
พรสวรรค์ สุวรรณธาดา. (2554). แม่พลอยกับเฟมินิสต์. วารสารคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, 28(3), 51-72.
พราว อรุณรังสีเวช และ ธนิต พฤกธรา. (2560). ตัวตนที่ถูกปลุกในการเกิดใหม่ของอีโม: การศึกษาเครื่องแต่งกาย เพลง และความเป็นตัวตนของกลุ่มวัฒนธรรมอีโม ปี 2560. ใน การประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติครั้งที่ 4 คณะวิทยาการจัดการมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนุสนันทา (หน้า 414-422). กรุงเทพ: มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา. สืบค้นจาก http://sw-eden.net
พราว อรุณรังสีเวช และ มานนท์ ผสมสัตย์. (2559). วิวัฒนาการของภาพยนตร์เทพนิยายบริษัทวอลต์ดิสนีย์. วารสารวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา, 3(1), 53-71. สืบค้นจาก http://sw-eden.net
ภพ สวัสดี และ สิริวรรณ นันทจันทูล. (2558). กลวิธีการใช้ภาษาเพื่อสื่ออุดมการณ์ความเป็นผู้หญิงในโฆษณาสินค้าแฟชั่นแบรนด์เนม. วารสารมหาวิทยาลัยศิลปากร สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยศิลปากร, 35(3), 149-195.
ศุภานิช คำบุศย์ และ โสภนา ศรีจำปา. (2558). การให้ความหมายต่อสตรีในภาพยนตร์อินเดียเรื่อง Kahaani. วารสารวิจิตรศิลป์, 6(1), 1-33.
Arunrangsiwed, P., Ounpipat, N., & Cheachainart, K. (2018). Women and Yaoi Fan Creative Work. Executive Journal, 38(2), 59-73. Retrieved from http://sw-eden.net
Bailey, D. (2016). Beefing up the beefcake: Male objectification, boy bands, and the socialized female gaze (Scripps Senior Theses).
Besse, S. K. (2018). Restructuring patriarchy: the modernization of gender inequality in Brazil, 1914-1940. North Carolina: UNC Press.
Boer, R. A. D. (2014). Who is going to save the final girl? the politics of representation in the films halloween and the silence of the lambs (Doctoral dissertation, Federal University of Santa Catarina).
Cohen, R., Newton-John, T., & Slater, A. (2018). ‘Selfie’-objectification: The role of selfies in self-objectification and disordered eating in young women. Computers in Human Behavior, 79, 68-74.
Coyne, S. M., Linder, J. R., Rasmussen, E. E., Nelson, D. A., & Birkbeck, V. (2016). Pretty as a princess: Longitudinal effects of engagement with Disney princesses on gender stereotypes, body esteem, and prosocial behavior in children. Child Development, 87(6), 1909-1925.
Dunne, M. (2006). The representation of women in comic books, post WWII through the radical 60’s. PSU McNair Scholars Online Journal, 2(1), 20.
Goodrum, M. (2014). ‘Oh c’mon, those stories can’t count in continuity!’Squirrel Girl and the problem of female power. Studies in Comics, 5(1), 97-115.
Isekeije, J. (2010). A Comparative Analysis of Female Characters in Empire and Watchmen. International Journal of the Humanities, 8(6), 1-9.
Keating, E. M. (2012). The female link: Citation and continuity in Watchmen. The Journal of Popular Culture, 45(6), 1266-1288.
Kittredge, K. (2014). Lethal girls drawn for boys: Girl assassins in manga/anime and comics/film. Children’s Literature Association Quarterly, 39(4), 506-532.
Lavin, M. R. (1998). Women in Comic Books. Serials Review, 24(2), 93-100.
Matsuuchi, A. (2012). Wonder Woman Wears Pants: Wonder Woman, Feminism and the 1972′ Women’s Lib’ Issue. COLLOQUY text theory critique 24, 118-142.
Rousseau, A., Eggermont, S., Bels, A., & Van den Bulck, H. (2018). Separating the sex from the object: Conceptualizing sexualization and (sexual) objectification in Flemish preteens’ popular television programs. Journal of Children and Media, 12(3), 346-365.
Sawyer, E. A. (2014). Postfeminism in female team superhero comic books (Master’s thesis, The University of Utah).
Yllo, K. A., & Straus, M. A. (2017). Patriarchy and violence against wives: The impact of structural and normative factors. In Physical violence in American families (pp. 383-400). NY: Routledge.
Zeitz, C. D. (2016). Dreaming of Electric Femmes Fatales: Ridley Scott’s Blade Runner: Final Cut (2007) and Images of Women in Film Noir. Gender Forum: An Internet Journal of Gender Studies, 60, 75-89.

© Copyright information
Proud Arunrangsiwed & Muntira Seedoung

Leave a Reply ถาม หรือ แสดงความคิดเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.