ผลของการใช้ภาพยนตร์ดราม่ากระตุ้นความต้องการวางแผนชีวิตของผู้ชม
The Effectiveness of Drama Film to Stimulate the Need for Career Planning
Authors and Affiliations
1 พราว อรุณรังสีเวช*
2 คเณศร์ จิตต์ไทย2
1. อาจารย์กลุ่มสาขาวิชานิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา
อีเมล: proud.ar@ssru.ac.th; parunran@nyit.edu*
2 นักศึกษาปริญญาตรี สาขาวิชาการภาพยนตร์ กลุ่มสาขาวิชานิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา
อีเมล: golfeza.kiki@facebook.com
Download PDF
© Copyright information
Proud Arunrangsiwed
เขียนอ้างอิงเป็นภาษาไทยโดย: พราว อรุณรังสีเวช, และ คเณศร์ จิตต์ไทย. (2562). ผลของการใช้ภาพยนตร์ดราม่ากระตุ้นความต้องการวางแผนชีวิตของผู้ชม. ใน การประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติ ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2562 ความท้าทายของอุดมศึกษาในการผลิตนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาในศตวรรษที่ 21 (หน้า 714-722) (1 กุมภาพันธ์ 2562). บุรีรัมย์: มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์.
Cite this paper as: Arunrangsiwed, P., & Jitthai, K. (2019). The effect of using drama film to stimulate the audienees’ need for career planning. Paper presented at NIRC III 2019: The 3rd National and International Research Conference 2019 Challenges of Higher Education in Production of Graduate Students in the 21st Century (pp. 714-722) (February, 1st, 2019). Buriram: Buriram Rajabhat University.
– – – – – – – – – – – – – – – – – – – – –
บทคัดย่อ
ดวยการวางแผนชีวิตเป็นสิ่งที่จำเป็น มิใช่เพียงนำมาซึ่งความสำเร็จทางด้านการงานและการเงิน แต่ยังเป็นภูมิคุ้มกันความล้มเหลวในชีวิตอีกด้วย ผู้วิจัยจึงผลิตสื่อที่แสดงให้เห็นถึงผลเสียของการไม่ทำตามแผนชีวิตที่ตั้งไว้ โดยคบกับเพื่อนที่ชวนเที่ยวและดื่มในเวลากลางคืน จนกระทั่งตัวละครเอกมีปัญหาทางการเงิน งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อทดสอบประสิทธิ์ผลของสื่อที่ถูกผลิตขึ้น โดยเทียบระดับความต้องการวางแผนชีวิต ผู้ให้ข้อมูลเป็นผู้ที่ตั้งใจมารับชมภาพยนตร์ที่จัดฉายในงานของมหาวิทยาลัย จำนวน 100 คน โดยพวกเขาจะทำแบบสอบถามก่อนและหลังเข้าชมภาพยนตร์ การวิเคราะห์ Independent T-Test ไม่พบความแตกต่างของระดับความต้องการวางแผนชีวิต ก่อนและหลังชมภาพยนตร์ งานวิจัยในอนาคตควรเลือกกลุ่มตัวอย่างที่อยู่ในวัยที่การวางแผนชีวิตมีความสำคัญ และศึกษาหาตัวแปรต้นอื่นที่เป็นเหตุให้คนคิดวางแผนชีวิต
คำสำคัญ: การวางแผนชีวิต, การวางแผนการประกอบอาชีพ, ภาพยนตร์, สื่อสร้างสรรค์
Abstract
Life plan is an important part of life achievement and also an important shield to protect people from life failure. The researchers produced a prosocial film telling a story of a man with a life plan, but having a bad friend, who always brought him to drink and shop in the night time. At the end, the main character got a monetary problem. The current study aimed to test the media effect, the changing in the need to have a life plan, after the exposure regarding the particular film. One-hundred visitors in an open house festival were asked to participate the study. They filled in 2 sets of questionnaire about the need to have a life plan, before and after seeing the mentioned movie. The result of independent t-test did not show any significant difference between the level of the need to have a life plan, before and after media exposure. Future studies should use different group of samples, or investigate other predictors that could heighten the need to have a life plan.
Keywords: Life planning, Career planning, Films, Prosocial Media
1. บทนำ
การวางแผนชีวิตนั้นถือว่าเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง การวางแผนชีวิตของคนหนึ่ง ๆ มิเพียงทำให้มีคุณภาพชีวิตและเงินออมที่มากขึ้น หากแต่ยังส่งผลกระทบในเชิงบวกต่อครอบครัว รวมถึงเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมของประเทศชาติได้อีกด้วย การวางแผนชีวิตจะช่วยกำหนดลำดับการทำงาน โดยมีการตั้งเป้าหมาย การวางแผนอนาคต วางแผนการใช้เงิน และการวางแผนเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ และยังก่อให้เกิดความเชื่อมั่นในตนเองและมีวุฒิภาวะที่ดีขึ้น (นฤมล สุ่นสวัสดิ์, 2558) การเชื่อมั่นในความสามารถตนเองและการวางแผนชีวิตนั้นก็ยังสามารถทำให้เกิดความพอใจในชีวิตได้ (Azizli, Atkinson, Baughman, & Giammarco, 2015) สติปัญญาก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องนำมาใช้ควบคู่กับการวางแผนชีวิต เพราะสติปัญญาทำให้ผู้ที่รู้จักใช้สติปัญญาสามารถก่อประโยชน์ รู้จักคิดสิ่งใหม่ ๆ ในการทำงาน และท้ายที่สุดจะนำมาซึ่งความสำเร็จและความมั่นคงด้านการงาน (ธรรญชนก ศรีทิพย์รัตน์, 2557) ส่วนในเรื่องของการวางแผนสุขภาพนั้น ในยามเมื่อคนหนึ่ง ๆ เจ็บป่วย เขาจะเริ่มวางแผนด้านสุขภาพได้ก่อน ก็ต่อเมื่อเขาทราบว่าอาการของเขานั้นคืออะไร และควรจะดูแลร่างกายของเขายังไง (กฤษณาพร ทิพย์กาญจนเรชา, 2560)
ดังนั้นแล้วผู้วิจัยคิดจึงสร้างภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาทำให้คนผู้ชมรู้จักการวางแผนชีวิตโดยงานวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อทดสอบการเปลี่ยนแปลงของระดับความต้องการวางแผนชีวิตของผู้ชม หลังจากรับชมภาพยนตร์ดังกล่าว ในส่วนต่อไปของเนื้อหาจะกล่าวถึงประโยชน์ของการวางแผนชีวิต
ประโยชน์ของการวางแผนชีวิต
การวางแผนชีวิตมีประโยชน์หลายด้าน ก่อนการเริ่มต้นชีวิตทำงาน การวางแผนจะช่วยให้ดำเนินชีวิตต่อไปข้างหน้าได้อย่างมีทิศทาง (กาญจน์สุนภัส บาลทิพย์, อุษณีย์ เพชรรัชตะชาติ, ศิริวรรณ พิริยคุณธร, นฤมล ติระพัฒน์, และ ปราณี เลี่ยมพุทธทอง, 2559) แต่ในทางกลับกัน หากไม่มีการวางแผนชีวิต จะทำให้บุคคลนั้น ๆ ไม่รู้ว่าควรจะดำเนินชีวิตต่อไปอย่างไร และส่งผลทำให้เกิดอาการซึมเศร้าได้ (Depressive Symptom) (Coffey, Gallagher, & Desmond, 2014) การวางแผนทางการเงินเป็นส่วนหนึ่งของการวางแผนชีวิตเชินกัน ซึ่งสามารถเริ่มได้ตั้งแต่ช่วงที่ยังทำงานได้อยู่ หากไม่สามารถวางแผนทางการเงินได้ทัน บุคคลผู้นั้นอาจจะไม่มีเงินที่จะใช้ต่อไปในอนาคตเมื่อเข้าสู่วัยเกษียณแล้ว (สุรัชนา ช่วยรอดหมด, 2560) การวางแผนชีวิตยังครอบคลุมไปถึงการวางแผนเกี่ยวกับสุขภาพ Wiebe, Baker, Suchy, Stump, and Berg (2018) พบว่าการวางแผนเกี่ยวกับการลดปริมาณน้ำตาลในอาหาร สามารถนำมาซึ่งการปฏิบัติจริง และเกิดผลดีต่อสุขภาพตามมา
แม้ว่าการสังสรรค์อาจถือได้ว่าเป็นพฤติกรรมปกติทั่วไปของการทำงาน แต่อาจทำให้บุคคลหนึ่ง ๆ เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับสิ่งมึนเมา อาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพทางกายหรือจิตใจ ดังนั้นการหลีกเลี่ยงของมึนเมานั้นถือเป็นการวางแผนด้านสุขภาพร่างกายและสุขภาพจิตใจที่ดี (บุญย์พัชร์ ปิยะบุญสิทธิ, 2547) นอกจากนี้ การวางแผนชีวิตของเยาวชนยังมีผลดีต่อการเรียนไม่แพ้กัน เพราะการวางแผนการเรียน และการมีวินัยในการปฏิบัติตามกฎของโรงเรียนอย่างถูกต้อง จะสามารถทำให้มีผลการเรียนที่ดีขึ้นได้ (Zimmerman & Pons, 1986) สำหรับนักศึกษามีการวางแผนอนาคตว่าตนเองอยากที่จะทำอาชีพอะไร จะทำให้เขาวางแผนได้ตั้งแต่การเลือกเรียน และระหว่างการเรียนแต่ละวิชา (Travers, Morisano, & Locke, 2015) สิ่งเหล่านี้ จะสามารถนำมาซึ่งความสำเร็จทั้งการศึกษา และอาชีพการงาน
จากที่ปรากฏในงานวิชาการข้างต้น การวางแผนชีวิตเป็นสิ่งที่มีประโยชน์มาก และควรมีการส่งเสริมให้ผู้รับชมสื่อต้องการวางแผนชีวิต ในส่วนต่อไป จะเป็นการทบทวนวรรณกรรมเพื่อหาคำตอบว่า ปัจจัยใดบ้างที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดการวางแผนชีวิต และปัจจัยใดทำให้มีการวางแผนชีวิตที่ดีขึ้นตามที่ได้ตั้งใจไว้
ปัจจัยที่ทำให้เกิดการวางแผนชีวิต
สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คืออายุกับสุขภาพ ดังนั้นการเตรียมความพร้อมก่อนเกษียณอายุนั้นควรเริ่มทำตั้งแต่วัยทำงาน ซึ่งการเตรียมตัวก็จะมีในด้านจิตใจ ด้านร่างกาย ด้านทรัพย์สินเงินทอง ด้านกิจกรรมยามว่าง ความสัมพันธ์ในครอบครัว และที่อยู่อาศัย (เพ็ญประภา เบญจวรรณ, 2557) ซึ่งตรงกับงานการค้นคว้าของ ชาญชัย จันดี และ ธีระ ฤทธิรอด (2558) ที่พบว่าช่วงวัยสูงอายุนั้นมักพบปัญหาหลักคือ ด้านสุขภาพ ด้านการเงิน และด้านสังคม การนี้ยังสอดคล้องกับงานวิจัยที่ว่า ผู้สูงอายุต้องมีการวางแผนด้านร่างกาย คือ การออกกำลังกายและการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ส่วนการวางแผนด้านจิตใจ คือ ต้องพัฒนาจิตใจให้เกิดความรู้สึกดี ๆ ต่อผู้อื่น และยังควรมีการวางแผนด้านสังคม คือ มีความสัมพันธ์กับคนในครอบครัวและคนในชุมชนที่ดี ตลอดจน การวางแผนด้านการเงิน คือ รู้จักเพียงพอ (นภสมน นิจรันดร์, 2561) การวางแผนด้านจิตใจ ยังเป็นส่วนสำคัญของผู้ป่วยโรคเอชไอวี ซึ่งพวกเขาต้องมีการยอมรับความจริง การตั้งใจดูแลตัวเอง การตั้งมั่นอยู่กับปัจจุบัน การไม่ประมาท และการตั้งใจทำความดี (ขวัญตา บาลทิพย์ และ สิริลักษณ์ จันเทร์มะ, 2556)
จากบทความที่อ้างถึงในข้างต้น ล้วนเป็นการวางแผนชีวิตที่มีเหตุบังคับให้จำเป็นต้องวางแผน ไม่ว่าจะเป็น อายุ การเงิน หรือปัญหาด้านสุขภาพ แต่ยังมีงานวิจัยจำนวนมากที่ทดสอบและให้คำแนะนำเกี่ยวกับการวางแผนทางการเรียน อาทิ การแนะแนวถือว่าเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้นักศึกษาเข้าใจตนเองและวางแผนอนาคตได้ถูก (มนตรี อินตา, สุพัตรา สกุลศรีประเสริฐ, และ มนทกานต์ เมฆรา, 2561) การวางแผนในการเรียนจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อนักศึกษาทราบว่าตนเองนั้นอยากจะเรียนอะไรและอยากจะทำอาชีพอะไรต่อไปในอนาคต (Westerwey, 2017) ผู้สอนยังสามารถแนะนำให้ผู้เรียนรู้จักการจัดลำดับขั้นตอนที่ทำให้ชีวิตประสบความสำเร็จ ซึ่งเมื่อผู้เรียนได้เขียนขั้นตอนแล้ว เขาจะสามารถดำเนินการตามแผนที่วางไว้ได้ง่ายขึ้น (Bovend’Eerdt, Botell, & Wade, 2009) สำหรับนักศึกษายังต้องมีการคิดว่าตนเองจะลงทะเบียนเรียนวิชาไหนก่อนหรือหลัง เพราะลงทะเบียนเรียนวิชาที่ยากก่อนอาจจะทำให้เกรดเฉลี่ยไม่ถึงเกณฑ์และต้องออกจากมหาวิทยาลัย (Al-Barrak & Al-Razgan, 2016) การนี้ จึงเห็นได้ว่าการมีวินัยในการเรียน และการวางแผนอนาคตของนักเรียนนักศึกษามีประโยชน์เป็นอย่างยิ่ง และยังสามารถทำให้นักศึกษาที่มีเกรดเฉลี่ยต่ำสามารถเรียนได้ดีขึ้น (Zollanvari, Kizilirmak, Kho, & Hernández-Torrano, 2017) จึงมาการพัฒนาเว็บไซต์ Moodle และนำมาใช้เพื่อการเรียนการสอน Moodle นี้มีลักษณะช่วยการวางแผนการเรียน เช่น ลำดับบทเรียนตลอดภาคเรียน มีผลให้ครูและนักเรียนมีการวางแผนการเรียนการสอนที่ดีขึ้น (Caputi & Garrido, 2015)
เรื่องการเงิน มีความสำคัญไม่แพ้เรื่องสุขภาพและการเรียน และจำเป็นที่จะต้องมีการวางแผนเช่นกัน เพราะจะเป็นประโยชน์ด้านการบริหารการเงินของบุคคลนั้น ๆ (สัณฐิติ ทองช่วง, 2558) แอพพลิเคชั่นมือถือยังสามารถถูกออกแบบเพื่อช่วยในการวางแผนทางการเงินให้แก่คนที่ไม่มีทักษะด้านการจัดการเงินของตนเอง (Yusof & Lokman, 2014) การใช้หลักการปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงก็สามารถช่วยให้รู้จักวางแผนการเก็บออม และใช้จ่ายได้อย่างเหมาะสมได้ โดยยึดหลักความสมดุลย์ของรายรับ รายจ่าย และความมีเหตุมีผลของการใช้จ่าย (พัทธนันท์ หรรษาภิรมย์โชค, 2560)
สรุปได้ว่า สิ่งที่กระตุ้นให้เกิดการวางแผนชีวิตคือ สุขภาพ อายุที่มากขึ้น โรคร้าย ตลอดจนความศรัทธาในปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ส่วนสิ่งที่ช่วยให้คนที่ต้องการวางแผนชีวิตสามารถวางแผนได้ดีขึ้นคือ การใช้เว็บไซต์เพื่อการเรียน แอพพลิเคชั่นที่ช่วยวางแผนการเงิน การรู้ความต้องการตนเอง จุดมุ่งหมายของตนเอง การเขียนวางแผนเป็นลำดับขั้นตอน แต่อย่างไรก็ตาม ยังไม่เคยมีงานวิจัยใดเลย ที่นำภาพยนตร์มาเป็นสื่อช่วยกระตุ้นให้คนมีความต้องการที่จะวางแผนชีวิต ซึ่งงานวิจัยนี้ จะสร้างสรรค์สื่อดังกล่าว และทดสอบระดับความต้องการวางแผนชีวิตที่เปลี่ยนไป ระหว่างก่อนชมและหลังชมภาพยนตร์ โดยผู้วิจัยตั้งสมมติฐานว่า สื่อภาพยนตร์ที่ถูกผลิตขึ้น จะสามารถช่วยเพิ่มระดับความต้องการวางแผนชีวิตในผู้ชมได้
2. วัตถุประสงค์ของการวิจัย
2.1 ผลิตภาพยนตร์ดราม่าเพื่อชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการวางแผนชีวิตและอุปสรรคที่ทำให้ไม่สามารถทำตามแผนที่วางไว้
2.2 เพื่อเปรียบเทียบระดับความต้องการวางแผนชีวิตก่อนและหลังรับชมภาพยนตร์
3. วิธีดำเนินการวิจัย
งานวิจัยนี้ใช้แบบสอบถามในการเก็บข้อมูล จากนักศึกษาจำนวน 100 คน ผู้ให้ข้อมูลเหล่านี้เป็นผู้เข้าชมภาพยนตร์ที่จัดแสดงในงาน Open House ของมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในเขตกรุงเทพมหานคร โดยก่อนที่ผู้ให้ข้อมูลจะเดินเข้าไปในห้องฉายภาพยนตร์ ผู้วิจัยและทีมงานนักศึกษาจะแจกแบบสอบถามชุดแรกให้พวกเขาทำ และเมื่อพวกเขารับชมภาพยนตร์เสร็จ ผู้วิจัยและทีมงานนักศึกษาจะขอให้พวกเขาทำแบบสอบถามอีกชุดหนึ่ง
แบบสอบถามทั้งสองชุดใช้วัดระดับความต้องการวางแผนชีวิต ซึ่งทั้งสองชุดมีลักษณะการใช้คำคล้ายคลึงกันแต่ต้องเรียบเรียงประโยคให้แตกต่างกันเพื่อป้องกันมิให้ผู้ให้ข้อมูลประเมินในรูปแบบเดิม หรือ กาซ้ำตามแบบสอบถามชุดแรก แบบสอบถามแต่ละชุดมีทั้งหมด 5 ข้อ และมี 4 ระดับให้เลือก (4-Point Likert Scale; 1=ไม่เห็นด้วย, 2=ไม่ค่อยเห็นด้วย, 3=ค่อนข้างเห็นด้วย, 4=เห็นด้วย) ตัวอย่างข้อความในแบบสอบถาม เช่น “ฉันวางแผนไว้แล้ว ว่าจะประสบความสำเร็จตอนอายุเท่าไร (ก่อน)” และ “ฉันคิดไว้แล้ว ว่าฉันจะต้องประสบความสำเร็จเมื่อไร (หลัง)” เป็นต้น คะแนนสูงสุดที่เป็นไปได้ในแบบสอบถามนี้คือ 20 และต่ำสุดคือ 5 ผู้ที่ได้คะแนนสูงหมายถึงมีความต้องการวางแผนชีวิตสูง
เนื่องจากการเก็บข้อมูลใช้แบบสอบถาม 2 ชุด ซึ่งแจกให้ทำใน 2 ช่วงเวลา คือ ก่อนเข้าห้องชมภาพยนตร์ และเมื่อรับชมภาพยนตร์เสร็จ จึงต้องใช้วิธีการเปรียบเทียบระดับความต้องการวางแผนชีวิตแบบ Independent T-Test ทั้งนี้เนื่องจากไม่สามารถจับคู่แบบสอบถามก่อนและหลังชมภาพยนตร์ได้
4. ผลการวิจัย
เรื่องย่อของภาพยนตร์
เนื้อหาของภาพยนตร์ที่ผู้ให้ข้อมูลได้รับชมนั้นเกี่ยวกับเรื่องราวของผู้ชายต่างจังหวัดที่ตั้งใจมาทำงานสร้างอนาคตในกรุงเทพ ชายผู้นี้ได้วางแผนชีวิตไว้เป็นอย่างดี แต่ไม่สามารถทำตามแผนที่ได้วางไว้ เพราะเขาไปคบหาสมาคมกับเพื่อนที่ชอบดื่มสุราและเที่ยวกลางคืน ทำให้เขาไม่มีเงินเก็บ และการดำเนินชีวิตไม่เป็นไปตามแผน เขารู้สึกผิดหวังและไร้ทางออกเมื่อเขาเข้าใจว่าชีวิตกำลังพบกับความล้มเหลว แต่ในตอนจบ เขาสำนึกตัวได้เมื่อได้รับโทรศัพท์ที่แม่โทรมาหาเขา และเขามีความตั้งใจที่จะทำตามแผนที่ได้วางไว้ คือ ก่อร่างสร้างตัวและหาเงินเพื่อดูแลผู้ปกครองยามแก่เฒ่า
ระดับความต้องการวางแผนชีวิต
ผลการทดสอบ Independent T-Test ไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ระหว่างระดับความต้องการวางแผนชีวิต ก่อนและหลังชมภาพยนตร์ (t=.606; p=.545) โดยความต้องการวางแผนชีวิตก่อนชมภาพยนตร์ (Mean=14.93; S.D.=2.031) มีระดับสูงกว่าหลังชมภาพยนตร์ (Mean=14.74; S.D.=2.389) เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ทั้งนี้ ผลการวิจัยไม่เป็นไปตามที่ผู้วิจัยคิดคิดไว้ และไม่เป็นไปตามงานวิจัยในอดีต ซึ่งจะถูกนำมาอภิปรายในส่วนต่อไป
5. การอภิปรายผล
จากผลการวิจัย ไม่พบความแตกต่างของระดับของความต้องการวางแผนชีวิตก่อนและหลังชมภาพยนตร์ แม้ว่าภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวจะมีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับการวางแผนชีวิตก็ตาม ทั้งนี้ อาจเป็นได้เพราะภาพยนตร์เน้นให้เห็นโทษของการไม่ทำตามแผนของชีวิตที่ได้ตั้งไว้ แต่มิได้เน้นให้เห็นโทษของการไม่มีแผนชีวิต ดังนั้นผู้ชมอาจเข้าใจว่าตัวละครพบกับความล้มเหลวทางการเงิน เพราะไม่สามารถทำตามแผนที่วางไว้ หากแต่ถ้าไม่มีแผนเลยตั้งแต่ต้น เขาก็อาจจะไม่ได้พบกับความผิดหวังดั่งในภาพยนตร์
นอกจากนี้ ตัวละครในภาพยนตร์ที่ให้กลุ่มตัวอย่างรับชมนั้น เป็นการเล่าเรื่องของวัยที่เริ่มทำงานหาเงิน แต่กลุ่มตัวอย่างเป็นนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัย การที่ตัวละครและผู้ชมมีอาชีพที่แตกต่างกัน อาจทำให้การรู้สึกคล้อยตามไปกับสื่อและได้รับผลกระทบจากสื่อมีความแตกต่างกันด้วย โดยนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัยหลายคนอาจยังได้รับการเลี้ยงดูจากผู้ปกครอง มิได้ทำงานหาเงินด้วยตนเอง ซึ่งการได้มาของเงินและการรับรู้ถึงความมั่นคงในชีวิตจะแตกต่างจากตัวละครในสื่อ ดังนั้น หากผู้วิจัยท่านใดต้องการทำงานวิจัยนี้ซ้ำ ควรเลือกกลุ่มตัวอย่างที่จำเป็นต้องมีการวางแผนชีวิตอย่างจริงจัง เช่น วัยทำงานที่ผู้ปกครองมิได้ให้เงินเลี้ยงดูแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม การวางแผนชีวิตมีความจำเป็นต่อทุกเพศทุกวัย (นฤมล สุ่นสวัสดิ์, 2558) นักเรียนและนักศึกษาจึงควรที่จะรู้จักวางแผนชีวิตเช่นกัน
แม้ว่าสื่อภาพยนตร์ที่ใช้ในงานวิจัยนี้จะไม่สามารถเพิ่มระดับความต้องการวางแผนชีวิตในผู้ชมได้ แต่ผู้ผลิตสื่ออาจใช้กลวิธีอื่นเพื่อเพิ่มความคล้อยตามกับสื่อ หรืออินไปกับตัวละครที่มีลักษณะต่างกัน เพราะความคล้อยตามและอินกับตัวละครจะช่วยให้ผู้ชมเข้าใจและนำตนเองเข้าไปอยู่ในตัวละครนั้น ๆ ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบทางอารมณ์และการเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรม (Donnerstein, 2011) โดยปกติผู้ชมจะจินตนาการณ์ร่วมกับตัวละครที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันกับตนเอง (Arunrangsiwed, 2015; Pairoa & Arunrangsiwed, 2016) และชื่นชอบตัวละครที่เป็นฝ่ายดีมากกว่าตัวละครหน้าตาดี (Arunrangsiwed, 2017) ดังนั้น ถ้าตัวละครมีความแตกต่างในด้านอาชีพหรือสถานะทางสังคม ผู้ผลิตสื่อควรทำให้ตัวละครที่ดำเนินเรื่องมีนิสัยดี และหน้าตาดี แต่ไม่ควรหน้าตาดีจนกระทั่งผู้ชมเกิดอคติและเหยียดหยามคนหน้าตาไม่ดี (Mongkolprasit & Arunrangsiwed, 2016)
หากผู้ผลิตสื่อมีทุนในการโฆษณาภาพยนตร์หรือสื่อแอนิเมชันที่มากเพียงพอ ผู้ผลิตสื่ออาจใช้ Line Sticker เข้ามาช่วยในการทำให้ผู้ชมจินตนาการณ์ร่วมกับตัวละคร เพราะเมื่อผู้ใช้แอพลิเคชั่นใช้ Sticker แทนการแสดงออกทางอารมณ์ เขาจะรู้สึกว่าตนเองและตัวละครใน Sticker เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ณ เวลานั้น ๆ (Pairoa & Arunrangsiwed, 2016) หากในงานวิจัยนี้สามารถเพิ่มความอินไปกับสื่อหรือจินตนาการณ์ร่วมกับตัวละครได้นั้น อาจทำให้ผู้ชมสามารถรับรู้ความสำคัญของการวางแผนชีวิตได้มากยิ่งขึ้น
บุคคลทั่วไปอาจไม่สามารถวางแผนชีวิตได้ หรือมีความต้องการวางแผนชีวิตทันทีทันใดหลังจากรับชมสื่อ ดั่งที่ กฤษณาพร ทิพย์กาญจนเรขา, สำลี สาลีกุล, นิภาพร อภิสิทธิวาสนา, และ มณีรัตน์ เทียมหมอก (2560) พบว่าผู้สูงอายุต้องทราบปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพของตนเองเสียก่อน จึงจะสามารถระบุการวางแผนทางสุขภาพได้ ผู้วิจัยจึงแนะนำว่านักเรียนนักศึกษาควรระบุเป้าหมายในชีวิต ปัจจัยเอื้ออำนวยในการบรรลุเป้าหมาย และต้องระบุปัญหาหรืออุปสรรคขัดขวางเป้าหมายนั้น หากนักเรียนนักศึกษาสามารถระบุได้ครบ และระลึกให้ได้ว่าในอนาคตผู้ปกครองอาจไม่ได้ให้เงินเลี้ยงดู พวกเขาจะมีความต้องการวางแผนชีวิตมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่
งานวิจัยนี้มีข้อจำกัดคือ มีกลุ่มตัวอย่างเพียง 100 คนและไม่ได้มาจากการสุ่ม หากแต่เป็นผู้เข้าชมภาพยนตร์ในงานของมหาวิทยาลัย ซึ่งกลุ่มตัวอย่างอาจมีลักษณะคล้ายคลึงกัน ภาพยนตร์ที่ใช้เป็นสื่อนั้น อาจไม่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงใด ๆ ต่อกลุ่มตัวอย่างเพราะเป็นภาพยนตร์สั้น ซึ่งผู้ชมอาจยังไม่ทันได้รู้สึกอินหรือจินตนาการณ์ร่วมกับสื่อ ภาพยนตร์ก็จบลงเสียก่อน ดังนั้นแล้วงานวิจัยในอนาคตควรขยายกลุ่มตัวอย่าง และเลือกกลุ่มตัวอย่างให้เหมาะสม ตลอดจนอาจเลือกใช้ภาพยนตร์ที่สร้างโดยผู้ผลิตมืออาชีพ การออกแบบการวิจัยก็เช่นกัน ตัวแปรที่อาจมีผลควรถูกใส่เป็นตัวแปรควบคุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจินตนาการณ์ร่วมไปกับสื่อ การสร้างเครื่องมือวัดยังเป็นส่งที่สำคัญ การที่ผลการวิจัยไม่พบนัยสำคัญทางสถิติอาจเกิดขึ้นจากการมิได้ตรวจสอบความเที่ยงตรงของเครื่องมือ แลไม่ได้นำเครื่องมือไปให้ผู้เชี่ยวชาญปรับแก้ก่อนนำมาใช้จริง
© Copyright information
Proud Arunrangsiwed
กิตติกรรมประกาศ
งานวิจัยนี้ได้รับทุนสนับสนุนการเข้าร่วมการประชุมวิชาการจากกองทุนพัฒนาบุคลากร มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา (http://ssru.ac.th) และขอขอบคุณทีมงานของนักศึกษา คเณศร์ จิตต์ไทย ที่ได้จัดทำภาพยนตร์ที่ใช้เป็นสื่อของงานวิจัยนี้
เอกสารอ้างอิง
กฤษณาพร ทิพย์กาญจนเรขา, สำลี สาลีกุล, นิภาพร อภิสิทธิวาสนา, และ มณีรัตน์ เทียมหมอก. (2560). การวางแผนดูแลรักษาตนเองล่วงหน้าเพื่อการตายดี. วารสารวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีกรุงเทพ, 33(3), 138-145.
กาญจน์สุนภัส บาลทิพย์, อุษณีย์ เพชรรัชตะชาติ, ศิริวรรณ พิริยคุณธร, นฤมล ติระพัฒน์, และ ปราณี เลี่ยมพุทธทอง. (2559). การพัฒนารูปแบบการใช้แนวคิดเป้าหมายในชีวิตและปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพแบบองค์รวมของวัยรุ่นไทย. วารสารพยาบาลสงขลานครินทร์, 36(3), 111-130.
ขวัญตา บาลทิพย์ และ สิริลักษณ์ จันเทร์มะ. (2556). กระบวนการสร้างเป้าหมายในชีวิตของเยาวชนไทยที่มีชีวิตอยู่กับเอชไอวี. วารสารพยาบาลสงขลานครินทร์, 33(3), 1-16.
ชาญชัย จันดี และ ธีระ ฤทธิรอด. (2558). การวางแผนเพื่อเตรียมพร้อมก่อนเข้าสู่วัยสูงอายุ ในองค์การบริหารส่วนตำบลไพร อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ. วารสารการบริหารท้องถิ่น, 8(3), 46-59.
ธรรญชนก ศรีทิพย์รัตน์. (2557). ภาวะผู้นำกระบวนการในการวางแผน การประสานงานและการด าเนินงาน ที่มีผลต่อคุณภาพชีวิตในการทำงานในองค์กร กรณีศึกษา: พนักงาน บริษัท เทเลคอม ในเขตกรุงเทพมหานคร (วิทยานิพนธ์บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยกรุงเทพ).
นภสมน นิจรันดร์. (2561). การดำเนินชีวิตหลังเกษียณอายุราชการของอาจารยมหาวิทยาลัยรามคำแหง. วารสารรามคำแหง ฉบับมนุษยศาสตร์, 37(1), 139-158.
นฤมล สุ่นสวัสดิ์ (2558). การตั้งเป้าหมายของชีวิตและการทำงาน. วารสารสารสนเทศ, 14(2), 21-36.
บุญย์พัชร์ ปิยะบุญสิทธิ. (2547). ภาวะสุขภาพจิต การวางแผนชีวิต และการสนับสนุนทางสังคมที่ส่งผลต่อการหลีกเลี่ยงการดื่มสุราของข้าราชการตำรวจชั้นประทวน สังกัดตํารวจภูธรจังหวัดนครปฐม (วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิตสาขาวิชาจิตวิทยาชุมชนภาควิชาจิตวิทยาและการแนะแนวบัณฑิตวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยศิลปากร).
พัทธนันท์ หรรษาภิรมย์โชค. (2560). แนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง. วารสารศรีนครินทรวิโรฒวิจัยและพัฒนา สาขามนุษยศาสตร์และสังคนศาสตร์, 9(18), 129-140.
เพ็ญประภา เบญจวรรณ. (2557). การเตรียมความพร้อมก่อนเกษียณอายุ. วารสารมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์, 2(1), 82-92.
มนตรี อินตา, สุพัตรา สกุลศรีประเสริฐ, และ มนทกานต์ เมฆรา. (2561). การแนะแนวกับการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของวัยรุ่น. Veridian E-Journal Silpakorn University ฉบับภาษาไทย มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และศิลปะ, 11(2), 2513-2530.
สัณฐิติ ทองช่วง. (2558). การวางแผนทางการเงินเพื่อที่อยู่อาศัยด้วยโปรแกรมไมโครซอฟท์เอกซ์เซล. วารสารนักบริหาร, 35(1), 14-22.
สุรัชนา ช่วยรอดหมด. (2560). การวางแผนการเงินเพื่อความมั่นคงในชีวิตวัยสูงอายุ ของเกษตรกรชาวสวนยางพารา. วารสารมหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี, 11(2), 47-59.
Al-Barrak, M. A., & Al-Razgan, M. (2016). Predicting students final GPA using decision trees: A case study. International Journal of Information and Education Technology, 6(7), 528.
Arunrangsiwed, P. (2015). Be Like Me & Follow Me : A Relationship between Homophily and Belief of Superheroes’ Fans. Rangsit University Journal of Communication Arts Review, 18(2), 35-50. Retrieved from https://sw-eden.net/publications/
Arunrangsiwed, P. (2017). Heroic Role and Attractiveness as the Cause of Creating Slash or Yaoi Fan Art. BU Academic Review, 16(1), 18-30. Retrieved from https://sw-eden.net/publications/
Azizli, N., Atkinson, B. E., Baughman, H. M., & Giammarco, E. A. (2015). Relationships between general self-efficacy, planning for the future, and life satisfaction. Personality and Individual Differences, 82, 58-60.
Bovend’Eerdt, T. J., Botell, R. E., & Wade, D. T. (2009). Writing SMART rehabilitation goals and achieving goal attainment scaling: a practical guide. Clinical rehabilitation, 23(4), 352-361.
Caputi, V., & Garrido, A. (2015). Student-oriented planning of e-learning contents for Moodle. Journal of Network and Computer Applications, 53, 115-127.
Coffey, L., Gallagher, P., & Desmond, D. (2014). A prospective study of the importance of life goal characteristics and goal adjustment capacities in longer term psychosocial adjustment to lower limb amputation. Clinical rehabilitation, 28(2), 196-205.
Donnerstein, E. (2011). The media and aggression: From TV to the Internet. In J. P. Forgas, & A.W. Kruglanski (Eds.), The psychology of social conflict and aggression (pp. 267–284). New York: Psychology Press.
Mongkolprasit, P., & Arunrangsiwed, P. (2016). The Effect of Prior Characteristic on Perceived Prosocial Content in Media. World Academy of Science, Engineering and Technology, International Journal of Social, Behavioral, Educational, Economic, Business and Industrial Engineering, 10(12), 3526-3530. Retrieved from https://sw-eden.net/publications/
Pairoa, I., & Arunrangsiwed, P. (2016). An Overview on the Effectiveness of Brand Mascot and Celebrity Endorsement. World Academy of Science, Engineering and Technology, International Journal of Social, Behavioral, Educational, Economic, Business and Industrial Engineering, 10(12), 3519-3525. Retrieved from https://sw-eden.net/publications/
Travers, C. J., Morisano, D., & Locke, E. A. (2015). Self-reflection, growth goals, and academic outcomes: A qualitative study. British Journal of Educational Psychology, 85(2), 224-241.
Westerway, S. C. (2017). Teaching the Ultrasound Student–Planning for Success. Ultrasound in Medicine and Biology, 43, S81-S82.
Wiebe, D. J., Baker, A. C., Suchy, Y., Stump, T. K., & Berg, C. A. (2018). Individual differences and day-to-day fluctuations in goal planning and type 1 diabetes management. Health Psychology, 37(7), 638-646.
Yusof, S. M., & Lokman, S. F. S. S. (2014). Personal financial planner: A mobile application that implementing forward chaining technique for notification mechanism. In Computer Applications and Industrial Electronics (ISCAIE) 2014 IEEE Symposium (pp. 65-69). IEEE.
Zimmerman, B. J., & Pons, M. M. (1986). Development of a structured interview for assessing student use of self-regulated learning strategies. American educational research journal, 23(4), 614-628.
Zollanvari, A., Kizilirmak, R. C., Kho, Y. H., & Hernández-Torrano, D. (2017). Predicting students’ GPA and developing intervention strategies based on self-regulatory learning behaviors. IEEE Access, 5, 23792-23802.
© Copyright information
Proud Arunrangsiwed