งานวิจัยเรื่อง อิทธิพลของภาพยนตร์สร้างสรรค์ที่มีต่อความเห็นอกเห็นใจของนักศึกษาในหอพัก


เห็นใจกันบ้าง: อิทธิพลของภาพยนตร์สร้างสรรค์ที่มีต่อความเห็นอกเห็นใจของนักศึกษาในหอพัก
Empathize with me, please: The Influence of Prosocial Film on the Level of Empathy of Students Lived in Dormitories

Authors and Affiliations
1 พราว อรุณรังสีเวช*
2 จารุวรรณ เฉลิมบุญ
1 อาจารย์กลุ่มสาขาวิชานิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา
อีเมล: proud.ar@ssru.ac.th; parunran@nyit.edu*
2 นักศึกษาปริญญาตรี สาขาวิชาการภาพยนตร์ กลุ่มสาขาวิชานิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา
อีเมล: mp_jaruwan@hotmail.com

Download PDF

© Copyright information
Proud Arunrangsiwed

เขียนอ้างอิงเป็นภาษาไทยโดย: พราว อรุณรังสีเวช, และ จารุวรรณ เฉลิมบุญ. (2562). เห็นใจกันบ้าง: อิทธิพลของภาพยนตร์สร้างสรรค์ที่มีต่อความเห็นอกเห็นใจของนักศึกษาในหอพัก. ใน การประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติ ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2562 ความท้าทายของอุดมศึกษาในการผลิตนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาในศตวรรษที่ 21 (หน้า 698-704) (1 กุมภาพันธ์ 2562). บุรีรัมย์: มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์.

Cite this paper as: Arunrangsiwed, P., & Chaloemboon, J. (2019). Empathize with me, please: The influence of prosocial film on the level of empathy of students stayed in dormitories. Paper presented at NIRC III 2019: The 3rd National and International Research Conference 2019 Challenges of Higher Education in Production of Graduate Students in the 21st Century (pp. 698-704) (February, 1st, 2019). Buriram: Buriram Rajabhat University.

– – – – – – – – – – – – – – – – – – – – –

บทคัดย่อ
เนื่องจากนักเรียนนักศึกษามักพบปัญหาจากการขาดความเห็นอกเห็นใจของเพื่อนร่วมห้องในหอพัก ผู้วิจัยจึงผลิตสื่อภาพยนตร์เชิงสร้างสรรค์เพื่อชี้ให้เห็นถึงปัญหาของความเห็นแก่ตัวและการขาดความเห็นอกเห็นใจ และทดสอบเปรียบเทียบระดับความเห็นอกเห็นใจก่อนและหลังรับชมสื่อ นักศึกษาที่อาศัยในหอพัก 106 คนทำแบบสอบถาม ผลการทดสอบค่า t แสดงให้เห็นว่า ผู้ชมภาพยนตร์มีความเห็นอกเห็นใจมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ผู้วิจัยจึงแนะนำว่า ผู้ผลิตสื่อหรือนักศึกษาสาขาภาพยนตร์และแอนิเมชัน ควรผลิตสื่อเชิงสร้างสรรค์ที่สามารถแก้ปัญหาในชีวิตประจำวันได้ โดยสอนให้ผู้ชมมีพฤติกรรมที่ดีขึ้น

คำสำคัญ: ความเห็นอกเห็นใจ หอพัก ภาพยนตร์สร้างสรรค์ สื่อสร้างสรรค์

Abstract
Because most students experience the problem of living in dormitory regarding the lack of empathy of roommates, the current study aims to (1) produce a prosocial film telling the result of the lack of empathy and selfishness, and (2) compare the level of empathy before and after media exposure. One hundred and six students lived in dormitories helped fill in the questionnaire. Paired sample t-test was use to analyze the data. The finding shows that the movie produced in this study could significantly heighten the level of empathy in the participants. The researchers suggested that other types of prosocial media should also be produced to solve the routine problems by teaching people to behave better.

Keyword: Empathy, Dormitory, Prosocial Films, Prosocial Media

– – – – – – – – – – – – – – – – – – – – –\

1. บทนำ
ช่วงเวลาที่นักเรียนมัธยมได้เติบโตและเรียนต่อในระดับชั้นปริญญาตรีนั้น พวกเขาจะพบกับการเปลี่ยนแปลงในชีวิตหลายด้าน ซึ่งด้านหนึ่งที่นักศึกษาหลายคนได้ประสบคือการย้ายจากบ้านมาอยู่ในหอพักไม่ว่าจะหอในหรือนอกรั้วมหาวิทยาลัย เนื่องจากนักศึกษามาจากหลากหลายจังหวัด มีพื้นเพที่แตกต่างกัน การมาอาศัยอยู่ร่วมกันจึงอาจเกิดปัญหาได้ และปัญหาที่สามารถพบได้บ่อยคือ ความเห็นแก่ตัวของเพื่อนร่วมห้องพัก จิตลักษณะหนึ่งที่จะช่วยให้ความเห็นแก่ตัวลดลงนั้นคือ ความเห็นอกเห็นใจ (Empathy) (Barasch, Levine, Berman, & Small, 2014) ความเห็นอกเห็นใจในตัวคนหนึ่ง ๆ สามารถส่งผ่านไปยังคนที่เขาสื่อสารด้วยได้ เช่น การซึมซับและเอาคู่สนทนาเป็นแบบอย่าง ตามทฤษฎีการปรับตัวตามสภาพสังคม (Communication Accommodation Theory) (Giles & Williams, 1992; พราว อรุณรังสีเวช, 2554)

การเห็นอกเห็นใจสามารถก่อให้เกิดผลที่ดีได้หลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทำให้เกิดพฤติกรรมที่ดีที่สร้างสรรค์สังคม เห็นประโยชน์และความสุขของส่วนรวมมากกว่าผลประโยชน์และความสุขส่วนตน (Light et al., 2015) ในด้านการแพทย์ แพทย์ที่มีความเห็นอกเห็นใจมักจะมีอารมณ์ในเชิงบวกสำหรับการรักษาคนไข้ ซึ่งส่งผลดีและก่อให้เกิดความพึงพอใจของคนไข้ (Leonard, Campbell, & Gonzalez, 2018) ในด้านการศึกษา การพัฒนาการเห็นอกเห็นใจของนักเรียนช่วยลดพฤติกรรมการกลั่นแกล้งและลดความรุนแรงภายในโรงเรียนได้ (Lee, Lee, & Kim, 2018) ความเห็นอกเห็นใจเคยถูกค้นคว้ามาแล้วในด้านการบริหารงานของหอพักนักศึกษา นักศึกษามีความพอใจในการบริการของเจ้าหน้าที่หอพักที่มีความเอาใจใส่และมีความเห็นอกเห็นใจต่อผู้อยู่อาศัย (Nabilocu & Khani, 2015) นอกจากนี้ความเห็นอกเห็นใจของเจ้าหน้าที่หอพักยังทำให้นักศึกษาที่พักอาศัยพึงพอใจต่อสถานที่พักอีกด้วย (Thi, 2018)

จากที่ทราบว่าความเห็นอกเห็นใจสามารถนำมาซึ่งผลลัพธ์ที่ดีในหลาย ๆ ด้าน รวมถึงการสื่อสารและความพึงพอใจในการใช้ชีวิตในหอพัก จึงควรที่จะต้องศึกษางานวิชาการในอดีตที่พยายามระบุที่มาของความเห็นอกเห็นใจ Lee, Lee, and Kim (2018) ได้ทำการวิจัยพบว่า การเรียนการสอนแบบเอาใจใส่ทำให้เป็นผลดีต่อนักเรียน และทำให้นักเรียนมีความเห็นอกเห็นใจต่อเพื่อนร่วมชั้นเรียนในวิชาศิลปะมากขึ้น ส่วนในงานการศึกษาของ Shaver, Mikulincer, Gross, Stern, Cassidy, and Cassidy (2016) ได้กล่าวไว้ว่า ผู้ปกครองที่เข้าใจความรู้สึกของลูกจะทำให้ลูกมีความเห็นอกเห็นใจและมีพฤติกรรมที่ดีในอนาคต ทางด้าน Van der Graaff, Carlo, Crocetti, Koot, and Branje (2018) ทำการวิจัยพบว่าการมองในมุมมองของผู้อื่นด้วยการสมมุติตัวเองอยู่ในสถานการณ์ของผู้อื่น (Perspective Taking) ทำให้บุคคลนั้นมีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นและความเห็นอกเห็นใจนี้ก่อให้เกิดพฤติกรรมเอื้อต่อสังคม (Prosocial Behavior)

ด้านสื่อทั่วไป Coyne, Padilla-Walker, Holmgren, Davis, Collier, Memmott-Elison, and Hawkins (2018) พบว่า ผู้ชมที่รับชมสื่อที่สร้างสรรค์สังคม (Prosocial Media) จะก่อให้เกิดความเห็นอกเห็นใจที่เพิ่มขึ้น และลดความก้าวร้าวลงได้ นอกจากนี้สื่อที่เป็น วิดีโอเกมส์ที่มีเนื้อหาที่สร้างสรรค์ทำให้ผู้เล่นเกิดความเห็นอกเห็นใจและมีพฤติกรรมที่ช่วยเหลือผู้อื่นมากยิ่งขึ้น (พราว อรุณรังสีเวช และ สิริพร มีนานันทน์, 2557; Prot et al., 2014) ในด้านของการโฆษณาที่มีตัวการ์ตูนหรือบุคคลที่มีชื่อเสียงเป็นพรีเซ็นเตอร์ Ruth (2017) ได้พบว่า แม้ว่าการโฆษณา (Campaign) จะสอนให้ผู้ชมทำดี แต่ถ้าการโฆษณานั้นมีตัวการ์ตูนหรือบุคคลที่มีข่าวไม่ดี ก็จะไม่สามารถสร้างความเห็นอกเห็นใจในตัวผู้ชมและพวกเขาจะไม่มีการบริจาคเงินช่วยเหลือ

จากงานวิชาการที่ได้กล่าวถึงในข้างต้นนั้น แสดงให้เห็นว่าสื่อที่มีเนื้อหาสร้างสรรค์สามารถทำให้ผู้ชมมีพฤติกรรมที่ดี และมีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นเพิ่มมากขึ้น ผู้วิจัยจึงจัดทำสื่อภาพยนตร์ ที่แสดงให้เห็นปัญหาของการขาดความเห็นอกเห็นใจในการอยู่ร่วมหอพักกับเพื่อนและทดสอบประสิทธิผลของสื่อดังกล่าวในการเพิ่มระดับความเห็นอกเห็นใจในการอยู่ร่วมหอพักกับผู้อื่น

2. วัตถุประสงค์ของการวิจัย
2.1 ผลิตภาพยนตร์เกี่ยวกับชีวิตในหอพักที่แสดงให้เห็นถึงผลของการขาดความเห็นอกเห็นใจ
2.2 ทดสอบเปรียบเทียบระดับความเห็นอกเห็นใจก่อนและหลังรับชมสื่อภาพยนตร์

3. วิธีดำเนินการวิจัย

งานวิจัยนี้เป็นงานวิจัยเชิงปริมาณโดยใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือเก็บข้อมูล ผู้วิจัยใช้ G*Power 3.0.10 ที่ห้องคอมพิวเตอร์ของมหาวิทยาลัยในการคำนวณจำนวนกลุ่มตัวอย่าง โดยตั้งค่า Effect Size ต่ำ คือ 0.3 ซึ่งจำนวนกลุ่มตัวอย่างควรมีอย่างน้อยคือ 90 คน ดังนั้นผู้วิจัยจึงตั้งใจเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างไม่เกิน 120 คน โดยท้ายที่สุด การวิจัยได้รับข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 106 คน ซึ่งมาจากวิธีการ Snowball Sampling

กลุ่มตัวอย่างเป็นนักศึกษาระดับปริญญาตรีที่พักอาศัยในหอพักนอกมหาวิทยาลัย ในเขตกรุงเทพมหานคร ผู้วิจัยได้ขอให้พวกเขาทำแบบสอบถามชุดแรก เพื่อวัดระดับความเห็นอกเห็นใจในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในหอพัก และต่อมา พวกเขาจะได้รับชมภาพยนตร์ที่ผู้วิจัยได้สร้างขึ้นซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการขาดความเห็นอกเห็นใจในการใช้ชีวิตในหอพัก ซึ่งในภาพยนตร์ได้แสดงให้เห็นถึงปัญหาที่จะเกิด ความตึงเครียด การเอารัดเอาเปรียบ การหาแนวทางแก้ไข และจบลงที่การแก้ไขปัญหาโดยเพื่อนร่วมห้องเริ่มมีความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน

การรับชมภาพยนตร์นั้น กลุ่มตัวอย่างได้ใช่อุปกรณ์คือ โทรศัพท์มือถือ และคอมพิวเตอร์ตามแต่ที่สะดวก หลังจากรับชมภาพยนตร์ พวกเขาได้ทำแบบสอบถามอีกชุดหนึ่ง ซึ่งใช้ในการวัดระดับความเห็นอกเห็นใจเช่นเดียวกันกับในชุดแรก แต่มีการปรับเปลี่ยนคำพูด เช่น จากเดิม “ฉันมักจะพยายามเข้าใจเพื่อนร่วมห้องเวลาที่เห็นเขาทำในสิ่งที่ฉันไม่ชอบ” เป็น “แม้เพื่อนร่วมห้องทำในสิ่งที่ฉันไม่ชอบ ฉันจะพยายามเข้าใจเขา” และจากเดิม “ฉันสงสารเพื่อนร่วมห้องเมื่อเขารู้สึกแย่” เปลี่ยนเป็น “เมื่อเพื่อนร่วมห้องรู้สึกแย่ ฉันจะสงสารเขา” เป็นต้น แบบสอบถามทั้ง 2 ชุดมีจำนวน 5 ข้อ และอยู่ในรูปแบบ 4-Point Likert Scale

เมื่อได้ข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างแล้ว ผู้วิจัยได้นำข้อมูลมาคำนวณโดยโปรแกรมทางสถิติที่ติดตั้งไว้ในห้องคอมพิวเตอร์ของมหาวิทยาลัย การทดสอบค่า t แบบ Paired Sample T-Test ได้ถูกนำมาใช้เพื่อเปรียบเทียบความเห็นอกเห็นใจในการอยู่หอพักก่อนและหลังรับชมสื่อ

4. ผลการวิจัย
เรื่องย่อของภาพยนตร์ที่ถูกผลิต
ผู้หญิงสองคนเป็นเพื่อนกันมาเป็นเวลานาน แต่พึ่งตัดสินใจมาอาศัยในห้องพักในหอเดียวกัน เพราะต้องการแบ่งเบาค่าใช้จ่ายในการเช่าที่พัก โดยคนหนึ่งไม่มีความเกรงใจในการอยู่ร่วมกัน เช่น การนำขนมมารับประทานบนเตียงนอน การไม่ยอมซักผ้า กองผ้าที่เหม็นจนเต็มทางเดิน ไม่ยอมทำความสะอาดห้องน้ำจนมีเส้นผมจำนวนมากตามพื้น รวมถึงไม่ยอมห่อผ้าอนามัย แต่กลับทิ้งผ้าอนามัยที่พื้นห้องน้ำแทน นอกจากนี้ยังขโมยชุดชั้นในของเพื่อนไปใส่ เพราะตนเองไม่ได้ซักผ้า

เหตุการณ์ทั้งหมดนี้ ทำให้เพื่อนร่วมห้องอีกคนหนึ่งเก็บกด เพราะถึงแม้จะพยายามพูดว่าตนเองไม่ชอบ และพยายามตักเตือนให้เพื่อนทำความสะอาด แต่ท้ายที่สุดตนเองก็ต้องเป็นคนลงมือทำความสะอาดและดูแลห้องแต่ผู้เดียว เธอจึงตัดสินใจที่จะย้ายไปอยู่ที่อื่น เธอได้โทรหาผู้ปกครอง เพราะเธอมีปัญหาเรื่องค่าเช่า ถ้าเธอย้ายไปอยู่คนเดียวที่หอพักอื่น เธอและผู้ปกครองอาจเดือดร้อนเรื่องค่าใช้จ่าย ในเวลานั้นเธอร้องไห้ ไม่มีทางออก กดดัน ในที่สุดเธอตัดสินใจย้ายออกจากหอพักนั้น เธอเก็บข้างของใส่กระเป๋าและกำลังจะเดินออกจากห้อง

ณ ขณะนั้น เพื่อนของเธอได้เดินเข้ามาพบ เพื่อนของเธอพึ่งเข้าใจว่าเขาทำให้เพื่อนร่วมห้องทุกข์ทรมานได้ถึงเพียงนี้ ทั้งสองจึงพูดคุยปรับความเข้าใจกัน โดยท้ายที่สุด เพื่อนที่ไม่เคยรับผิดชอบเรื่องการดูแลห้องพัก ได้มาช่วยกันดูแลรักษาความสะอาด และทั้งสองก็คืนดีกัน และสามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในห้องพักต่อไป

การเปรียบเทียบระดับความเห็นอกเห็นใจ
การเปรียบเทียบระดับความเห็นอกเห็นใจโดยใช้การทดสอบค่า t พบว่าผู้ชมมีความเห็นอกเห็นใจมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (t=14.776; p=.001) ซึ่งระดับคะแนนเพิ่มขึ้นจากเดิมคือ 14.392 ไปที่ 17.896 จากคะแนนเต็ม 20

แม้ว่างานวิจัยนี้มิได้มีการทดสอบคุณภาพแบบสอบถามก่อนเก็บข้อมูล ผู้วิจัยได้หาค่า Cronbach’s alpha เพื่อเป็นประโยชน์แก่ผู้วิจัยคนอื่น ๆ ที่ต้องการใช้แบบสอบถามนี้ โดยค่าดังกล่าวอยู่ในระดับที่ยอมรับได้คือ แบบสอบถามก่อนรับชมภาพยนตร์ที่ค่า Cronbach’s alpha คือ .838 และ หลังรับชมภาพยนตร์คือ .783

5. การอภิปรายผล
ผลการวิจัยของงานวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่าสื่อภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาเชิงสร้างสรรค์ที่ชี้ให้เห็นโทษของการขาดความเห็นอกเห็นใจของผู้ที่อยู่ร่วมกันในหอพักนั้น สามารถเพิ่มระดับความเห็นอกเห็นใจในผู้ชมได้จริง ปัญหาการขาดความเห็นอกเห็นใจในหอพักนี้ไม่เคยถูกค้นคว้าในงานวิจัยอื่น ๆ จึงทำให้งานวิจัยนี้ช่วยเสริมสร้างองค์ความรู้ในด้านดังกล่าว

ผลการวิจัยนี้ยังถูกสนับสนุนจากผลการวิจัยของงานวิจัยอื่น ๆ และข้อค้นพบในบทความวิชาการจำนวนมาก ที่ว่า สื่อมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงจิตลักษณะ ความเชื่อ และพฤติกรรมของผู้ชม ทั้งในด้านดี (พราว อรุณรังสีเวช และ สิริพร มีนานันทน์, 2557; Mongkolprasit & Arunrangsiwed, 2016) และไม่ดี (Anderson et al., 2010) แม้ว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จะนำเสนอความก้าวร้าวทางอ้อม (Indirect Aggressiveness) ความขาดความเห็นอกเห็นใจ และความเห็นแก่ตัว ที่อาจดูเกินกว่าในชีวิตจริง เพราะพฤติกรรมไม่ดีทั้งหมดถูกรวบรวมมานำเสนอในระยะเวลาอันสั้น แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้สามารถจัดว่าเป็นสื่อที่มีความสร้างสรรค์สังคม เพราะสามารถกระตุ้นให้ผู้ชมที่มีลักษณะเดียวกับตัวละคร คือ เป็นนักศึกษาที่อาศัยในหอพัก สามารถรับรู้ได้ถึงปัญหาของความขาดความเห็นอกเห็นใจ และได้แง่คิด จนทำให้เกิดความเห็นอกเห็นใจแก่เพื่อนร่วมหอพักของตน

ผู้วิจัยจึงนำเสนอให้ผู้ผลิตสื่อมืออาชีพ นักศึกษาภาพยนตร์ และนักศึกษาแอนิเมชัน ได้ผลิตสื่อที่สร้างสรรค์สังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อแก้ไขปัญหาที่คนจำนวนมากต้องเผชิญในชีวิตประจำวัน โดยขอแนะนำเพิ่มเติมว่า ควรนำเสนอเรื่องราวให้เข้าถึงอารมณ์ของผู้ชม ให้ผู้ชมเกิดความรู้สึกร่วม มีความสะเทือนใจ เห็นใจ และสามารถเชื่อมโยงเหตุการณ์ในภาพยนตร์กับชีวิตจริงของตน

ถึงแม้ว่าภาพยนตร์ที่ทำรายได้สูงจำนวนมาก เป็นภาพยนตร์ที่ใช้เทคนิคพิเศษ มีความรุนแรง มีการต่อสู้ แต่ผู้กำกับและผู้ผลิตก็สามารถสอดแทรกฉากและบทพูดที่ทำให้ผู้ชมได้รับรู้ถึงปัญหาสังคมที่ควรแก้ไข ได้รับรู้ถึงความเป็นมนุษย์ของตัวละคร ในทางตรงกันข้าม ภาพยนตร์ที่ได้รายได้สูงจำนวนหนึ่งยังขาดความรับผิดชอบต่อสังคม โดยนำเสนอความรุนแรงที่สมจริงให้ดูเป็นเรื่องสนุกขำขัน เช่น ภาพยนตร์ค่าย Marvel ที่ผลิตโดย Walt Disney Studios ซึ่ง Hatch (2014) วิเคราะห์ว่า ผู้ชมจะไม่ได้เรียนรู้การใช้ชีวิตจากภาพยนตร์เลย เพราะสิ่งที่พวกเขาได้เพียงอย่างเดียวจากภาพยนตร์ Marvel คือความสนุกที่เกิดจากความรุนแรง และการทำให้ความรุนแรงเป็นเรื่องตลก เป็นเรื่องไม่น่ากังวล ซึ่งแตกต่างจากงานวิจัยของ พราว อรุณรังสีเวช และคณะ (2561) ที่พบว่าความรุนแรงมิใช่สิ่งที่ทำให้ผู้ชมรู้สึกสนุก หากแต่เป็นความเหนือจริงหรือแตกต่างจากโลกความจริง ที่ทำให้พวกเขารู้สึกสนุก ดังนั้นแล้ว แนวทางการผลิตภาพยนตร์สร้างสรรค์ ควรที่จะแสดงถึงการแสดงออกทางอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิดที่เป็นมนุษย์ของตัวละคร ผลลัพธ์ของการกระทำผิด ลดความรุนแรง หากแต่อาจเพิ่มความแตกต่างจากโลกความจริง เพื่อมิให้สูญเสียอรรถรสของผู้ชมที่ชอบภาพยนตร์ที่มีการต่อสู้

งานวิจัยนี้มีข้อจำกัดอยู่หลายประการ เช่น กลุ่มตัวอย่างไม่ได้มาจากการสุ่ม หากแต่เป็นการบอกต่อของคนที่รู้จักกัน ซึ่งอาจมีลักษณะการใช้ชีวิตและรูปแบบการสื่อสารภายในหอพัก และสื่อสารระหว่างเพื่อนที่คล้ายคลึงกัน นอกจากนี้การเก็บข้อมูลเป็นแบบภาพตัดขวาง (Cross-sectional Design) ซึ่งทำให้ผู้วิจัยไม่สามารถทราบถึงผลระยะยาวและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของกลุ่มตัวอย่างในการอยู่ร่วมกับเพื่อนร่วมห้องในหอพัก ดังนั้น งานวิจัยในอนาคตควรที่จะมีการติดตาม และการเก็บข้อมูลจากเพื่อนร่วมห้องของผู้รับชมภาพยนตร์

© Copyright information
Proud Arunrangsiwed

กิตติกรรมประกาศ
งานวิจัยนี้ได้รับทุนสนับสนุนการเข้าร่วมการประชุมวิชาการจากกองทุนพัฒนาบุคลากร มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา (http://ssru.ac.th) และขอขอบคุณทีมงานของนักศึกษา จารุวรรณ เฉลิมบุญ ที่ได้จัดทำภาพยนตร์ที่ใช้เป็นสื่อของงานวิจัยนี้

เอกสารอ้างอิง
พราว อรุณรังสีเวช. (2554). ทฤษฎีการปรับตัวตามสภาพสังคม (Communication Accommodation Theory). Retrieved from https://sw-eden.net/2014/03/20/communication-accommodation-theory/
พราว อรุณรังสีเวช และ สิริพร มีนานันทน์. (2557). สื่อสร้างสรรค์เพื่อการศึกษา. วารสารเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน มทร.พระนคร, 1(2), 62-71. สืบค้นจาก https://sw-eden.net/publications/
พราว อรุณรังสีเวช, ภัชธีญา ปัญญารัมย์, ปริชมน พูนถิ่น, มัณฑิรา สีด้วง, ดุสิตา ธีรวัฒน์วรกุล, ปานแพร บุณยพุกกณะ, และ กฤษณะ เชื้อชัยนาท. (2561). ความรุนแรงไม่ใช่เรื่องสนุก: อิทธิพลของความรุนแรงและความแปลกแยกที่มีผลต่อความสนุกของละครโทรทัศน์. วารสารวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา, 10(ฉบับพิเศษที่ 1), 1-11.
Anderson, C. A., Shibuya, A., Ihori, N., Swing, E. L., Bushman, B. J., Sakamoto, A., … & Saleem, M. (2010). Violent video game effects on aggression, empathy, and prosocial behavior in Eastern and Western countries: A meta-analytic review. Psychological bulletin, 136(2), 151-173.
Barasch, A., Levine, E. E., Berman, J. Z., & Small, D. A. (2014). Selfish or selfless? On the signal value of emotion in altruistic behavior. Journal of personality and social psychology, 107(3), 393.
Coyne, S. M., Padilla-Walker, L. M., Holmgren, H. G., Davis, E. J., Collier, K. M., Memmott-Elison, M. K., & Hawkins, A. J. (2018). A meta-analysis of prosocial media on prosocial behavior, aggression, and empathic concern: A multidimensional approach. Developmental psychology, 54(2), 331-347.
Giles, H., & Williams, A. (1992). Accommodating hypercorrection: A communication model. Language and Communication, 12, 343-356.
Hatch, K. (2014). With great power comes no responsibility: reflexive ideology through spectacle-violence in the superhero films of Marvel Studios (Doctoral dissertation, University of British Columbia).
Lee, J., Lee, Y., & Kim, M. H. (2018). Effects of Empathy-based Learning in Elementary Social Studies. The Asia-Pacific Education Researcher, 27(1), 1-13.
Leonard, H. D., Campbell, K., & Gonzalez, V. M. (2018). The Relationships among Clinician Self-Report of Empathy, Mindfulness, and Therapeutic Alliance. Mindfulness, 9(6), 1-8.
Light, S. N., Moran, Z. D., Swander, L., Le, V., Cage, B., Burghy, C., … & Davidson, R. J. (2015). Electromyographically assessed empathic concern and empathic happiness predict increased prosocial behavior in adults. Biological psychology, 104, 116-129.
Mongkolprasit, P., & Arunrangsiwed, P. (2016). The Effect of Prior Characteristic on Perceived Prosocial Content in Media. World Academy of Science, Engineering and Technology, International Journal of Social, Behavioral, Educational, Economic, Business and Industrial Engineering, 10(12), 3526-3530. Retrieved from https://sw-eden.net/
publications/
Nabilou, B., & Khani, M. (2015). Quality of Dormitory Services in Urmia University of Medical Science. Female Student’s Perceptions, 5(4), 233-239.
Prot, S., Gentile, D. A., Anderson, C. A., Suzuki, K., Swing, E., Lim, K. M., … & Liau, A. K. (2014). Long-term relations among prosocial-media use, empathy, and prosocial behavior. Psychological science, 25(2), 358-368.
Ruth, N. (2017). “They don’t really care…”: Effects of music with prosocial content and corresponding media coverage on prosocial behavior. Musicae Scientiae, 22(3), 415–433.
Shaver, P. R., Mikulincer, M., Gross, J. T., Stern, J. A., Cassidy, J. A., & Cassidy, J. (2016). A lifespan perspective on attachment and care for others: Empathy, altruism, and prosocial behavior. In Cassidy, J. & P. R. Shaver (eds.), Handbook of attachment: Theory, research, and clinical applications (3rd ed.) (pp. 878-916).

Thi, N. P. H. (2018). Investigating the factors influencing satisfaction of students to the dormitory of Dong Thap University (Master’s thesis, Dong Thap University).
Van der Graaff, J., Carlo, G., Crocetti, E., Koot, H. M., & Branje, S. (2018). Prosocial behavior in adolescence: Gender differences in development and links with empathy. Journal of youth and adolescence, 47(5), 1086-1099.

© Copyright information
Proud Arunrangsiwed

Leave a Reply ถาม หรือ แสดงความคิดเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.