งานวิจัยเรื่อง ชายกลายเพศ กับ มนุษย์กลายพันธุ์ Ex-Men in X-Men


ชายกลายเพศ กับ มนุษย์กลายพันธุ์
Ex-Men in X-Men

พราว อรุณรังสีเวช
กลุ่มสาขาวิชานิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา, กรุงเทพฯ
E-mail: proud.ar@ssru.ac.th, parunran@nyit.edu*

Download PDF

© Copyright information
Proud Arunrangsiwed

เขียนอ้างอิงเป็นภาษาไทยโดย: พราว อรุณรังสีเวช. (2562). ชายกลายเพศ กับ มนุษย์กลายพันธุ์. ใน The 4th Technology Innovation Management and Engineering Science International Conference. กรุงเทพฯ: สมาคมอุตสาหกรรมดิจิทัลไทย.
Cite this paper as: Arunrangsiwed, P. (2019). Ex-Men in X-Men. Paper presented at The 4th Technology Innovation Management and Engineering Science International Conference. Bangkok: The Association of Thai Digital Industries.

บทคัดย่อ
บทความนี้กล่าวถึงวิวัฒนาการโดยสังเขปของตัวละครนอร์ทสตาร์ (Northstar) ในหนังสือการ์ตูนเรื่อง เอ็กซ์เมน (X-Men) ซึ่งเดิมทีเป็นตัวละครที่ไม่ค่อยมีความสำคัญ มักตกเป็นเหยื่อของการสังหารโดยตัวละครตัวอื่นหลายครั้ง และถูกเหมารวมโดยเชื่อมโยงบทบาทกับโรคเอดส์และการประท้วงเกี่ยวกับการเรียกร้องสิทธิ์ แต่ในภายหลังผู้เขียนหนังสือการ์ตูนได้ให้บทบาทที่สร้างความเท่าเทียมกันทางเพศมากขึ้น อาจเกิดจากยุคสมัยที่เปลี่ยนไปและมีการยอมรับเพศที่สาม บทความนี้ให้ข้อเสนอแนะว่าสื่อสามารถช่วยขับเคลื่อนสังคมโดยจุดประกายความคิดให้ผู้ชมทำในสิ่งที่ควรทำ แม้สิ่งนั้น ๆ อาจยังไม่เป็นที่ยอมรับหรือเข้าใจโดยคนส่วนใหญ่
คำสำคัญ: เอ็กซ์เมน, เพศที่สาม, ความเท่าเทียมกัน

Abstract
This article reveals the evolution of the fictional character in X-Men comic book, named, Northstar. This character was originally unimportant and often killed by other characters. Gay murdering is not only stereotype of gay appeared in media, but gay men is often linked to HIV and activism. Northstar also adopted a child with HIV infected and engaged the activism. Later, the comic writers and artists provide him a better role and gender equality. This might be because of the changing in mainstream cultures. However, the good narrative media should not just follow the mainstream culture, but they should suggest their audiences about to solve and understand the current problem and how to move the society as the whole to the better future.
Keywords: X-Men, LGBT, Equality

© Copyright information
Proud Arunrangsiwed

© Copyright information
Proud Arunrangsiwed

1. คำนำ
การดูหมิ่นเหยียดหยามผู้อื่น (Discrimination) เพียงเพราะลักษณะภายนอกนั้นเป็นสิ่งที่ไม่สมควรประพฤติปฏิบัติ อาทิเช่น การดูถูกรูปร่างที่อ้วนของเพื่อน หรือ ไม่ยอมให้คนอ้วนนั่งกินข้าวด้วยในโรงเรียนวัยเด็ก เป็นต้น ชาวแอฟริกันและเกย์เพศชายมักถูกดูถูกแบบเหมารวมในลักษณะคล้ายคลึงกัน (Stereotype) คือ สกปรก พูดจาเสียงดัง เป็นโรคติดต่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรคเอดส์ [1] การดูถูกผู้อื่นเพียงเพราะรูปร่าง หน้านา เพศ อายุ ความพิการ และการแต่งกายนั้นสามารถส่งผลเสียต่อผู้ที่ถูกดูถูก เนื่องจากคนเหล่านี้จะถูกกีดกันออกจากสังคมมิใช่เพราะจากการกระทำของพวกเขา หากแต่เป็นเพราะสถานะและตัวตนที่เขาเลือกเกิดไม่ได้

บทความนี้มุ่งอภิปรายตัวละครที่เป็นเกย์ในสื่อหนังสือการ์ตูน โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวละครชื่อ Northstar ในหนังสือการ์ตูนเรื่อง X-Men การศึกษาตัวละครตัวนี้มีความสำคัญเพราะเป็นตัวละครเกย์ที่มีชื่อเสียง อาจกล่าวได้ว่าบทบาทของตัวละครนี้เปรียบเสมือนมุมมองของบริษัทมาร์เวลคอมิกส์ (Marvel Comics) ที่มีต่อเกย์ทั้งหมดโดยรวม และ X-Men ยังถือได้ว่าเป็นสัญลักษณ์ของความหลากหลายทั้งเชื้อชาติ อายุ และเพศ สามารถกล่าวได้ว่ามีความสร้างสรรค์กว่าหนังสือการ์ตูนอื่น ๆ ของมาร์เวลคอมิกส์ ซึ่งอาจไม่ค่อยให้ความสำคัญกับผู้มีความด้อย (Minority) ผู้เขียนบทความนี้ได้คาดหวังไว้ว่า ตัวละคร Northstar นี้ จะมีบทบาทในเนื้อเรื่องที่ดี มีความเป็นผู้นำ และอาจแสดงให้เห็นว่า มาร์เวลคอมิกส์ไม่เหยียดเพศ

2. ชายเพศที่สาม
การดูถูกเหยียดหยามผู้ชายที่เป็นเกย์ มี ตัวอย่างเช่น การมองว่าพวกเขาขี้แพ้ ไม่มีความเป็นผู้นำ ชอบทำงานของผู้หญิงมากกว่างานของผู้ชาย อย่างการเป็นพนักงานต้อนรับ ตลอดจนการเลือกทำงานที่ทำได้ทั้งสองเพศมากกว่าที่จะเลือกทำงานที่ผู้ชายทั่วไปนิยมทำ [2] ผู้ชายที่ไม่ใช่เพศที่สาม แต่มีการแสดงออกที่คล้ายคลึงกัน คือ อ่อนโยน พูดจาสุภาพ และจิตใจอ่อนไหว ล้วนมักตกเป็นเป้าการดูถูกว่าเป็นเกย์ การดูถูกเช่นนี้ มิเพียงเป็นการนำความเป็น “เกย์” มาเปรียบเทียบเชิงลบ แต่ยังเป็นการดูถูกลักษณะของผู้ชายที่ไม่ก้าวร้าวหรือต้องการอำนาจ [3] การที่ผู้ชายเพศที่สามถูกดูถูกเช่นนี้มีผลเสียต่อสุขภาพของพวกเขาคือ ทำให้พวกเขาเกิดความกังวล [4] และทำให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพจิตอื่น ๆ ตามมา [5] Grant [6] ยังพบว่าเกย์ที่โดนดูถูกเหล่านี้จะเผชิญกับสถาวะซึมเศร้า และเสียความมั่นใจในตนเอง ในขณะเดียวกัน Morrison และ Bearden [7] พบว่าผู้หญิงมีทัศนคติที่ดีต่อชายที่เป็นเกย์มากกว่าเพศชายด้วยกัน การนี้อาจเป็นผลทำให้กลุ่มแฟน ๆ เพศหญิงที่แต่งนิยายรักร่วมเพศ (Yaoi and Slash fan fiction) มันวางโครงเรื่องให้ตัวละครชายที่เป็นเกย์มีนิสัยดี ความอ่อนแอ และอ่อนโยนของตัวละครเหล่านี้กลายเป็นสิ่งที่ถูกนิยม ต่างจากสังคมภายนอกบางแห่งที่คิดว่าความอ่อนโยนและอ่อนแอเป็นสิ่งที่น่าดูถูก [8]

3. เกย์ในภาพยนตร์
เดิมทีตัวละครเกย์มักได้รับบทบาทไม่สำคัญในภาพยนตร์ที่มีชื่อเสียง [9] พวกเขาอาจเป็นคนแรก ๆ ที่ถูกสังหารในภาพยนตร์สยองขวัญประเภทไล่เชือด (Slasher Films) หรือฆาตกรต่อเนื่อง (Serial Killer) นอกจากนี้ สาร (Message) ในเชิงลบที่แอบแฝงอยู่ในภาพยนตร์เรื่อง Interview with the Vampire ยังสามารถถูกตีความได้ว่า เด็กเล็กจะไม่มีทางเติบโตได้อย่างสมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจเมื่อมีผู้ปกครองเป็นเกย์ และความเป็นเกย์ยังเปรียบเสมือนโรคติดต่อ ซึ่งในภาพยนตร์เรื่องนี้ ผู้ได้รับเชื้อจะกลายเป็นผีดูดเลือด [10]

เช่นเดียวกันกับการ์ตูนสำหรับเด็กเล็ก อย่างการตูน วอลต์ ดิสนีย์ (Walt Disney) ยุคดั้งเดิม รูปแบบคล้ายคลึงกันหลายเรื่องคือ มีแม่เลี้ยงใจร้าย หรือ แม่มดที่ดุร้าย ซึ่งเป็นการสร้างความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับผู้หญิง ที่ว่า ผู้หญิงที่มีอำนาจจะใช้อำนาจในทางที่ผิดเสมอ ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อมุมมองของผู้ชมต่อผู้บริหารองค์กรเพศหญิง [11] ในขณะเดียวกัน ตัวละครตัวร้ายจำนวนมาก มีการแสดงออกเหมือนตุ๊ดหรือเกย์ที่มีความเป็นผู้หญิง [12] แม้ว่าในการ์ตูนอาจมิได้ระบุด้วยคำพูดหรือการกระทำว่าตัวละครตัวร้ายเหล่านี้เป็นเพศที่สาม หากแต่บุคลิก ลักษณะ ท่าทาง การร้องเพลง และการแต่งกายได้บ่งบอกว่าพวกเขาเป็นเพศดังกล่าว ตัวร้ายเหล่านี้มักมีนิสัยโลภ หลังตนเอง และเห็นแก่ตัว ทำให้นักวิชาการแสดงความกังวลว่าเด็กเล็กที่รับชมสื่อเหล่านี้จะมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อเกย์ [13] นอกจากตัวละครตัวร้ายที่เป็นตัวเด่นแล้วนั้น ตัวละครประกอบฝั่งตัวร้ายซึ่งเป็นลูกน้อง มักมีนิสัยขี้ประกบ ขี้โกหก และมีบคคลิกเป็นเพศที่สามเช่นกัน ตัวละครทั้งหลายเหล่านี้มักพบกับจุดจบที่ไม่ดี หรือแม้กระทั่วตัวละครเพศที่สามที่เป็นฝ่ายดี ก็จะมีตอนจบที่มีความสุขนิรันดร์ (Happily Ever After) ในการ์ตูน วอลต์ ดิสนีย์ จะแสดงให้เด็กเล็กเห็นว่าความสุขนิรันดร์เกิดขึ้นได้เฉพาะระหว่างเพศชายและเพศหญิงจริง ๆ เท่านั้น [14]

ส่วนการแสดงภาพลักษณ์ที่ดีของเกย์หรือเพศที่สามนั้นสามารถพบได้ในภาพยนตร์ หรือ ซีรีส์ อย่างเรื่อง True Blood และ Legends of Tomorrow ซึ่ง Dhaenens [15] พบว่าในภาพยนตร์ซีรีส์เรื่อง True Blood ตัวละครเกย์และตัวละครที่มี 2 เพศ (Bisexual) มีบทบาทสำคัญในการดำเนินเรื่อง เป็นตัวละครหลัก เป็นฝ่ายดี ซึ่งทั่งหมดนี้แตกต่างจากภาพยนตร์และแอนิเมชันหลายเรื่องก่อนหน้านี้

Giunchigliani [16] เปรียบเทียบว่าการ์ตูนของ พิกซาร์ (Pixar) มีการแสดงความรักระหว่างชายและหญิงน้อยกว่าของ วอลต์ ดิสนีย์ มีการแสดงความรักเกี่ยวกับเพศตรงข้ามน้อยกว่า และตัวร้ายยังเป็นเพศปกติ (Heterosexual) หรือตัวละครที่ไม่มีเพศ (Asexual) มากกว่าที่จะให้ดุร้ายและแสดงออกแบบชายเพศที่สาม ใน ดีซีคอมิกส์ (DC Comics) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่อง Green Lantern ตัวละครเอกยังได้แสดงความห่วงใยเกย์ที่ถูกอาชญากรทำร้ายเพราะความเกลียด (Hate Crime) ซึ่งบทบาทของตัวละครนี้ได้รับการชื่นชมจากเพศที่สาม หากแต่ถูกตำหนิจากคนเคร่งศาสนาและผู้ปกครองบางคน [17] ในเวลาต่อมา หนังสือการ์ตูน Green Lantern เรื่องเดียวกันนี้ มิใช่เพียงให้ตัวละครเอกไปช่วยเหลือเกย์ หากแต่ได้ถูกเขียนให้ตัวละครเอกเป็นเกย์เอง โดยตัวละครเอกผู้ถือแหวนคนดังกล่าวคือ Alan Scott ในเอิร์ททู (Earth-Two) ส่วนตัวละครนี้ในเอิร์ทวัน (Earth-One) เป็นเพศปกติ

4. เอ็กซ์เมน (X-Men) และมาร์เวลคอมิกส์ (Marvel Comics)
เอ็กซ์เมน (X-Men) ถือเป็นหนังสือการ์ตูนที่เน้นความหลายหลายทางเชื้อชาติและเพศ (Diversity) มากกว่าการ์ตูนหลายเรื่องของมาร์เวลคอมิกส์ (Marvel Comics) [18] การออกแบบตัวละครที่มีความสร้างสรรค์ และการขับเคลื่อนสังคม (Prosocial Characters, Social Movement) เหล่านี้เกิดขึ้นก่อนในเวลาที่กลุ่มแฟน ๆ ของมาร์เวลจะเชื่อว่าผู้บริหารมีการเอาจริงเอาจังกับการผลิตหนังสือการ์ตูนเพื่อความเท่าเทียมกันในสังคม เอ็กซ์เมนถูกเขียนขึ้นภายใต้แนวคิดที่ว่าผู้พิการ, คนที่มักถูกดูถูกเพราะความแตกต่างของเขา, และคนที่ไม่เป็นที่ยอมรับในสังคม ล้วนสามารถทำความดีช่วยเหลือผู้อื่นได้ หนังสือการ์ตูนเอ็กซ์เมนเล่มแรกพิมพ์ขายเมื่อกันยายน 1963 เป็นเวลา 3 เดือนหลังจากหนังสือการ์ตูนเรื่องดูมพาโทรล์ (Doom Patrol) เผยแพร่ ดูมพาโทรล์นี้อาจเป็นต้นฉบับแนวคิดเรื่องการนำผู้ที่มีความด้อย (Minority) มารวมตัวกันและเป็นทีมซูเปอร์ฮีโร่ ถึงแม้จะมีการโต้แย้งเรื่องการลอกเลียนแนวคิด แต่สิ่งที่ถูกนำเสนอไม่ว่าจะเป็นเรื่องดูมพาโทรล์หรือเอ็กซ์เมนนั้น เป็นสิ่งที่ช่วยขับเคลื่อนทางสังคมเพื่อความเท่าเทียมกันของเพศและชนชั้น โดยในช่วงหลังจากยุคทองและยุคเงินของหนังสือการ์ตูน (The Golden Age Of Comics และ The Silver Age of Comic Books) Alward [19] ได้กล่าวว่า เอ็กซ์เมนเป็นหนังสือการ์ตูนที่มียอดขายลำดับต้น ๆ เสมอ และได้รับความสนใจจากผู้ใหญ่มากกว่าเด็กเล็ก ซึ่งผู้เขียนบทความนี้มีความคิดเห็นว่า ไม่ใช่เพียงผู้ใหญ่ที่ควรได้รับชมหรืออ่านการนำเสนอมุมมองสนับสนุนผู้มีความด้อย ไม่ว่าทางร่างกาย หรือเพศ หากแต่เด็กเล็กก็ควรได้รับโอกาสที่จะอ่านและรับรู้เรื่องราวดังกล่าวเช่นเดียวกัน

จากที่กล่าวมาในย่อหน้าข้างต้น ที่ว่าเอ็กซ์เมนถูกเขียนและวาดขึ้นมาก่อนที่กลุ่มแฟน ๆ จะเชื่อว่าผู้บริหารของมาร์เวลคอมิกส์มีการเอาจริงเอาจังกับการเขียนเนื้อเรื่องเพื่อสร้างความเท่าเทียมกันในสังคม เวลาที่แฟน ๆ เกิดความเชื่อนี้อยู่ในปี 2015 ซึ่งบริษัทมาร์เวลคอมิกส์ได้สร้างหัวข้อ (Title) หนังสือการ์ตูนใหม่คือ All-New, All-Different Avengers และ A-Force หรือทีมอเวนเจอร์ส (Avengers) ที่มีความหลากหลายทั้งเพศ ศาสนา และเชื้อชาติ หนึ่งในผู้บริหารของมาร์เวลคอมิกส์ ชื่อ เดวิด กาเบรียวล์ (David Gabriel) มีความเชื่อส่วนตัวว่า การเปลี่ยนแปลงตัวละครในทีมอเวนเจอร์ส อย่างกระทันหันให้มีความหลากหลายและเท่าเทียมกันทางเพศ ศาสนาและสีผิวนั้น ทำให้กลุ่มแฟน ๆ รับไม่ได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลงหรือกลุ่มที่ชื่นชอบเฉพาะผู้ชายผิวขาวเป็นซูเปอร์ฮีโร่ เดวิด กาเบรียวล์ยังเชื่ออีกว่าการต่อต้านของแฟน ๆ เหล่านี้ทำให้ยอดขายหนังสือการ์ตูนของมาร์เวลคอมิกส์ตกต่ำในช่วงปี 2017 [20] อย่างไรก็ดี การสร้างความเท่าเทียมกันอาจมิใช่สาเหตุที่ทำให้ยอดขายตกต่ำ หากแต่อาจเป็นที่ปัจจัยด้านราคาหนังสือการ์ตูนโดยเฉลี่ยที่แพงกว่าดีซีคอมิกส์ (DC Comics) และการออกหนังสือหัวข้อ (Title) ใหม่มากและบ่อยเกินไป

การปรับเปลี่ยนอย่างกระทันหันให้ตัวละครในทีมอเวนเจอร์ส มีความหลากหลายนั้น เสมือนเป็นการประกาศว่ามาร์เวลคอมิกส์ให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมกันในสังคม แต่ความจริงแล้วเอ็กซ์เมนมีเรื่องราวที่สนับสนุนความเท่าเทียมกันมาก่อนหน้านี้นานแล้ว ซึ่งในส่วนต่อไปจะกล่าวถึงตัวละครชื่อนอร์ทสตาร์ (Northstar)

© Copyright information
Proud Arunrangsiwed

5. มนุษย์กลายพันธุ์ชื่อนอร์ทสตาร์ (Northstar)
นักวิชาการและแฟนเชื่อว่า นอร์ทสตาร์ (Northstar) เป็นตัวละครซูเปอร์ฮีโร่เกย์เพศชายคนแรกในหนังสือการ์ตูนที่มีชื่อเสียง (Mainstream Comics) เป็นชาวแคนาดาเชื้อฝรั่งเศษ (French-Canadian) เขาอยู่ในทีมแอลฟ่าไฟลต์ (Alpha Flight) ซึ่งเป็นทีมฮีโร่ชาติแคนาดาในเนื้อเรื่องเอ็กซ์เมน โดยมีพี่น้องฝาแฝดชื่อ ออโรร่า (Aurora) [21] Lendrum [22] วิเคราะห์บทบาทของนอร์ทสตาร์ในหนังสือการ์ตูนหลายฉบับและพบว่า ตัวละครนี้มีลักษณะของเกย์ที่คนทั่วไปคาดว่าจะให้เกย์เป็นเช่นนั้น (Myth and Stereotype of Gay Men) ถึงแม้ว่านอร์ทสตาร์จะมีความแตกต่างจากลักษณะที่ถูกเหมารวมดังกล่าวคือมีความเป็นวีรบุรุษ (Heroic) ซึ่งอาจช่วยเสริมสร้างทัศนคติที่ดีของผู้อ่านที่มีต่อเพศที่สาม [23] การทำความดีของตัวละครนี้ยังมีความเกี่ยวข้องกับการเหมารวมทางเพศดังกล่าว คือ เวลาที่นอร์ทสตาร์รับเลี้ยงเด็กผู้หญิงที่ติดเชื้อเอดส์ (HIV) จากครรภ์มารดา เขาให้เด็กคนนี้ใช้นามสกุลเดียวกับเขา และไม่นานต่อมาเด็กได้เสียชีวิต ทางนอร์ทสตาร์ได้ประกาศอย่างเปิดเผยว่าตนเองเป็นเกย์ และสร้างสรรค์งานเขียนเพื่อเป็นข้อความรณรงค์ให้สังคมตระหนักและให้ความสำคัญเกี่ยวกับสาธารณสุขและการติดเชื้อเอดส์ [22]

การเหมารวมเกี่ยวกับความเป็นเกย์ที่ปรากฎอย่างเห็นได้ชัดคือ การมีส่วนเกี่ยวข้องกับเชื้อเอดส์และวาทกรรมเกี่ยวกับแนวคิดการขับเคลื่อนความเท่าเทียมกันทางเพศ (Gender Politics) ในเรื่องเอ็กซ์เมนยังมีตัวละคร นอร์ทสตาร์มิใช่ตัวละครเดียว หากแต่ยังมี ลูส แซเดลอร์ (Louis Sadler) หรือเมเจอร์ มาเปิลลีฟ (Major Mapleleaf) ที่เป็นเกย์ และมีลูกชายที่เสียชีวิตเพราะเชื้อเอดส์ [24] นอกจากการเหมารวมทางเพศที่ปรากฏกับตัวละครนอร์ทสตาร์แล้วนั้น บทบาทของเขายังมีความคล้ายคลึงกับตัวละครเพศที่สามในอดีต ที่ Keller [9] พบว่าตัวละครเกย์ไม่ค่อยมีความสำคัญ มีไว้เพื่อสร้างความตลก และมักถูกฆ่าก่อนตัวละครอื่น ๆ ถึงแม้ว่าผู้เขียนบทความนี้จะไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญลึกซึ้งของหนังสือการ์ตูนเอ็กซ์เมน (Geek หรือ Nerd) แต่เป็นแฟนทั่ว ๆ ไปของหนังสือการ์ตูนนี้ในอดีตระยะหนึ่ง จึงได้พบว่านอร์ทสตาร์เป็นตัวละครที่เสียชีวิตบ่อยกว่าตัวละครเพศปกติคนอื่น ๆ (Heterosexual)

นอร์ทสตาร์ถูกสังหารโดนวูล์ฟเวอรีน (Wolverine) 2 ครั้ง โดยครั้งแรกคือในเนื้อเรื่อง Age of Apocalypse ซึ่งวูล์ฟเวอรีนถูกเรียกว่าวีปอนเอ็กซ์ (Weapon X) และเอ็กซ์ 23 (X-23) ซึ่งในฉบับนั้นมีชื่อว่าคิริกะ ยาชิดะ (Kirika Yahida) ส่วนอีกครั้งหนึ่งคือเมื่อวูล์ฟเวอรีนถูกสังให้ไปฆ่า ชาโดว์แคท (Shadowcat) หรือ คิตตี้ ไพรด์ (Kitty Pryde) วูล์ฟเวอรีนได้กระโจนใส่เพื่อใช้กรงเล็บแทงเธอ แต่เธอได้ใช้พลังให้ทะลุผ่าน (Phasing) ทำให้วูล์ฟเวอรีนทะลุผ่านเธอไป และกรงเล็บไปแทงที่หน้าอกของนอร์ทสตาร์ซึ่งยืนอยู่ด้านหลังของเธอ ทำให้นอร์ทสตาร์เสียชีวิต

นอร์ทสตาร์ยังเคยเสียชีวิตเพราะไปช่วยไซคลอปส์ (Cyclops) และเคยถูกลักพาตัวและถูกบังคับให้ใช้ยาจนเสียชีวิต ซึ่งในเวลานั้นเขามีความสัมพันธ์กับโคลอสซัส (Colossus) เนื้อเรื่องเช่นนี้เหมือนกับที่ McLeod [14] พบว่าสื่อมักมีเนื้อเรื่องให้คนที่มีเพศปกติได้รับความสุขสมหวังในความรัก แต่เกย์มักจะผิดหวังในความรัก นอกจากนี้นอร์ทสตาร์ยังเคยถูกสังหารโดยแม็กนีโต้ (Magneto) ผู้อ่านบทความนี้อาจสงสัยว่าทำไมตัวละครหนึ่ง ๆ จึงเสียชีวิตได้หลายครั้ง ซึ่งคำตอบคือ ตัวละครชุดหนึ่ง ๆ อย่างในเรื่องเอ็กซ์เมน สามารถถูกนำมาเขียนและวาดในหนังสือการ์ตูนหลายหัวเรื่อง (Title) เช่น House of X, Uncanny X-Men, X-Men Gold/Red/Blue, X-Men: Regenesis, Astonishing X-Men ตลอดจนหลายเอิร์ท (Earth) ซึ่งโครงสร้างของตัวละคร (Setting) ส่วนใหญ่จะคล้ายคลึงกัน หากแต่ถูกเขียนและวาดโดยศิลปินคนละคน เนื้อเรื่องอาจไม่มีความเชื่อมโยงกันเลย นอกจากการเสียชีวิตหลายครั้งของตัวละครนอร์ทสตาร์แล้วนั้น นอร์ทสตาร์ยังเป็นหนึ่งในมนุษย์กลายพันธุ์ที่ติดเชื้อลีกาซี่ไวรัส (Legacy Virus) ซึ่งเปรียบเสมือนเชื้อเอดส์สำหรับพวกเขา การที่นอร์ทสตาร์ติดเชื้อนี้ ถือเป็นการทำซ้ำการเหมารวม (Repeat Stereotype) ของเกย์

นอร์ทสตาร์อาจเป็นตัวละครที่เป็นเกย์และโด่งดังที่สุดในเนื้อเรื่องเอ็กซ์เมน ทำให้ตัวละครนี้ถูกมองว่าเป็นตัวแทนของเกย์ในเรื่อง และบทบาทของเขาแสดงให้เห็นถึงทัศนคติของนักเขียนการ์ตูนและมาร์เวลคอมิกส์ที่มีต่อเกย์ จึงเกิดคำถามที่ว่า ทำไมต้องเป็นนอร์ทสตาร์ที่จะต้องตายซ้ำ ๆ หลายครั้ง ทำไมจึงไม่ใช่ตัวละครตัวอื่นที่เป็นผู้ชายผิวขาว หรือชนชาติที่มีอำนาจทางสังคมโลก (Majority) ซึ่ง Mark Miller ผู้เขียนและศิลปินภาพร่างดินสอของเนื้อเรื่องที่ว่าวูล์ฟเวอรีนตั้งใจจะฆ่าชาโดว์แคทแต่กลับไปโดนนอร์ทสตาร์ ได้กล่าวว่า เขาไม่ได้ตั้งใจจะให้นอร์ทสตาร์ถูกฆ่าเพราะนอร์ทสตาร์เป็นเกย์ แต่เพียงเพราะในกลุ่มตัวละครที่ยืนอยู่ในฉากนั้น นอร์ทสตาร์มีความสำคัญน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับสมาชิกทีมคนอื่น ๆ ในฉากนั้น

ในปี 2012 นอร์ทสตาร์ได้แต่งงานกับ ไคล์ จินาดุ (Kyle Jinadu) ในหนังสือหัวเรื่อง Astonishing X-Men ซึ่งการแต่งงานนี้เป็นผลมาจากคาร์ม่า (Karma) มนุษย์กลายพันธุ์หญิงชาวเวียดนามประสบปัญหาด้านจิตซึ่งพลังของเธอก็คือควบคุมความคิดผู้อื่น เมื่อทั้งคู่ได้ผ่านพ้นเหตุการณ์วิกฤตมาด้วยกัน จึงตกลงที่จะแต่งงานกัน อาจถือได้ว่าเป็นการแต่งงานรักร่วมเพศที่โด่งดังที่สุดในหนังสือการ์ตูนทุกเล่ม จนแฟน ๆ บางกลุ่มและนักวิชาการเชื่อว่าเป็นการแต่งงานของเกย์ครั้งแรกในหนังสือการ์ตูน [25] อย่างไรก็ตามการแต่งงานของเกย์ครั้งแรกในหนังสือการ์ตูนอาจเกิดขึ้นในปี 2002 ในเรื่อง The Authority (Vol 1 #29) ระหว่างอะพอลโล (Apollo) และมิดไนเทอร์ (Midnighter) [26] และตามมาด้วยในเรื่อง Life With Archie #16 ซึ่งพิมพ์ขึ้นในปี 2012 ก่อน Astonishing X-Men เล่มดังกล่าว 5 เดือน แม้ว่าการแต่งงานของเกย์ในเอ็กซ์เมนจะไม่ใช่การแต่งงานของเกย์ครั้งแรกในหนังสือการ์ตูนทั้งหมด แต่อาจเป็นการแต่งงานที่มีความโด่งดังมากจนมีการจัดงานแต่งงานเลียนแบบในโลกความจริง ดัสติน วีเวอร์ (Dustin Weaver) ซึ่งเป็นผู้วาดหน้าปกของเล่มดังกล่าวได้โพสข้อความว่าเขารู้สึกมีความสุขและยินดีที่ได้วาดมันขึ้นมา

ผู้เขียนบทความนี้เชื่อว่าการแต่งงานของนอร์ทสตาร์ที่กล่าวถึงในหัวเรื่อง Astonishing X-Men นี้ และความสัมพันธ์ที่ดีหลังจากนั้นในเอ็กซ์เมนหัวเรื่อง Amazing X-Men จะสามารถแก้ไขข้อผิดพลาดที่ถูกก่อโดยนักเขียนและศิลปินมาร์เวลคอมิกส์สมัยก่อนได้ ผู้เขียนมีความหวังว่าบทบาทของเพศที่สามในหนังสือการ์ตูนและในภาพยนตร์จะดีขึ้นยิ่ง ๆ ขึ้นไป

ด้วยวัตถุประสงค์ดั้งเดิมของการสร้างสรรค์เรื่องเอ็กซ์เมน มนุษย์กลายพันธุ์เหล่านี้ต้องเผชิญกับความไม่เท่าเทียมกันในสังคม เสมือนว่าพวกเขาเป็นเพศที่สาม และคนผิวสีในโลกความจริง ที่ทั้งถูกกีดกันและดูถูก [27] หากเรื่องเอ็กซ์เมนไม่มีตัวละครเกย์หรือคนผิวสีใด ๆ เลย เนื้อเรื่องดังกล่าวก็ยังคงแฝงไปด้วยวาทกรรมเพื่อสร้างความเท่าเทียมกัน คล้ายคลึงกับในซีรีส์ Supergirl ที่เอเลี่ยนหรือมนุษย์ต่างดาวถูกกีดกัน และภาพยนตร์การ์ตูน Zootopia (2016) ที่ใช้สัตว์ที่เป็นเหยื่อและผู้ล่าแทนการเป็นผู้มีอำนาจและผู้ด้อยในสังคม (Majority and Minority) แต่ในความเป็นจริง เนื้อเรื่องเอ็กซ์เมนมีตัวละครเพศที่สามและคนผิวสีอยู่ ซึ่งนอร์ทสตาร์ยังเคยมีบทบาทเป็นผู้ประท้วง (Activist) เสมือนกับเพศที่สามในโลกความจริงที่เดินขบวนเพื่อสิทธิความเท่าเทียมกัน ผู้เขียนจึงตีความว่าเป็นวาทกรรมซ้อนวาทกรรมเพื่อรณรงค์ให้เกิดความเท่าเทียมกันทางเพศ ซึ่งขอจำกัดความปรากฏการณ์ในสื่อนี้ว่า “Double Gender Politics” เอ็กซ์เมนอาจเป็นเรื่องราวเดียวในมาร์เวลคอมิกส์ที่ทำหน้าที่สร้างสรรค์ความเท่าเทียมกันในสังคมได้อย่างดีและต่อเนื่อง Griffin II [28] วิจารณ์หนังสือวิชาการที่มีชื่อเล่มว่า The New Mutants [29] ว่านำเสนอเนื้อหาการขับเคลื่อนสังคมอย่างแท้จริงเกี่ยวกับการเท่าเทียมกันในหนังสือการ์ตูน และหนังสือการ์ตูนสามารถสะท้อนถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำของการอยู่ร่วมกันในสังคม ซึ่งอาจทำให้นักวิชาการด้านหนังสือการ์ตูนและการสร้างความเท่าเทียมกันต้องจับตาดูภาพยนตร์ The New Mutants ซึ่งฉายในปี ค.ศ. 2020

นอกจากในหนังสือการ์ตูนแล้ว Bucciferro [30] ได้กล่าวถึงฉากในภาพยนตร์ X2 ปี 2003 ที่ โรเบิร์ท บ๊อบบี้ เดรค (Robert Bobby Drake) หรือไอซ์แมน (Iceman) ได้พบผู้ปกครองและพูดคุยเกี่ยวกับตัวตนที่เป็นมนุษย์กลายพันธุ์ ซึ่งทั้งนักวิชาการผู้นี้และแฟน ๆ ได้ตีความว่าบทพูดของตัวละครมีความเหมือนกับบุตรชายที่เป็นเกย์คุยกับผู้ปกครองที่เห็นว่าการเป็นเกย์คือปัญหา หลังจากนั้นในปี 2015 หนังสือการ์ตูน All-New X-Men Vol. 1 #40 ผู้ประพันธ์อาจได้รับแรงบันดาลใจจากภาพยนตร์ดังกล่าว โดยให้จีนเกรย์ (Jean Grey) อ่านจิตใจของบ๊อบบี้และพบว่าบ๊อบบี้เป็นเกย์

6. สรุป และ ข้อเสนอแนะ
จากการอภิปรายเอกสารต่าง ๆ ร่วมกัน แสดงให้เห็นว่า นอร์ทสตาร์ มีบทบาทตามการเหมารวมของเกย์ทั้งในโลกความจริง และ ในสื่อบันเทิง เช่น ความเกี่ยวข้องกับเชื้อเอดส์ การประท้วง และการที่ตัวละครเพศที่สามมักเป็นตัวละครที่ต้องเสียชีวิต โดยในภายหลังหนังสือการ์ตูนเอ็กซ์เมนได้ให้บทบาทที่ดีขึ้นและเท่าเทียมกันมากขึ้น คือ ให้นอร์ทสตาร์ได้แต่งงานกับผู้ชายผิวสี แสดงให้เห็นถึงการปรับตัวตามยุคสมัยของมาร์เวลคอมิกส์ บทบาททั้งหมดของนอร์ทสตาร์ที่กล่าวมานี้ แทบไม่ได้ช่วยขับเคลื่อนสังคมเลย หากแต่เป็นการทำซ้ำสิ่งที่คนในสังคมเหมารวมเกี่ยวกับเกย์ หรือจนกระทั่งการแต่งงานของเกย์ในปี 2012 ก็ยังเป็นการทำซ้ำกับข่าวที่การแต่งงานของเพศที่สามแพร่หลายมากขึ้น

เนื่องจากตัวละครเกย์ที่มีความโด่งดังอย่างนอร์ทสตาร์ไม่ได้มีบทบาทที่พิเศษ และไม่ได้มีบทบาทที่อาจช่วยเยาวชนผู้อ่านหนังสือการ์ตูนให้มีทัศนคติต่อเกย์ที่ดีขึ้น จึงกล่าวได้ว่าผลของการศึกษาตัวละครนี้ไม่เป็นไปตามที่ผู้เขียนบทความคาดหวังไว้ ผู้เขียนจึงให้ข้อเสนอแนะว่า การปรับเนื้อเรื่องและบทบาทของตัวละครให้เข้ากับยุคสมัยนั้นยังไม่เพียงพอ สื่อที่มีเรื่องราวอย่างหนังสือการ์ตูนควรนำเสนอสิ่งที่ควรคิด ควรตระหนักและสิ่งที่ควรทำ แม้ว่าคนในยุคนั้น ๆ อาจมิทันได้คิดหรือเห็นด้วย คนอ่านการ์ตูนหรือผู้ที่ศึกษาในเรื่องนี้อาจมีความคุ้นเคยว่า ไดอาน่า พรินซ์ (Diana Prince) หรือ วันเดอร์วูแมน (Wonder Woman) เคยมีอาชีพเป็นเลขาและพยาบาลทหาร บาร์บาร่า กอร์ดอน (Barbara Gordon) หรือ แบทเกิร์ล (Batgirl) มีอาชีพเป็นบรรณารักษ์ และ ซาตันน่า (Zatanna) ที่มีอาชีพเป็นนักมายากล ตั้งแต่ในยุคที่สังคมไม่ค่อยสนับสนุนให้ผู้หญิงทำงานนอกบ้าน

© Copyright information
Proud Arunrangsiwed

7. กิตติกรรมประกาศ
ขอขอบคุณมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา (http://ssru.ac.th) ที่สนับสนุนค่าลงทะเบียนสำหรับการประชุมวิชาการนี้

เอกสารอ้างอิง
[1] S.K. Calabrese, V.A. Earnshaw, M. Magnus, N.B. Hansen, D.S. Krakower, K. Underhill, K.H. Mayer, T.S. Kershaw, J.R. Betancourt and J.F. Dovidio, “Sexual stereotypes ascribed to Black men who have sex with men: An intersectional analysis,” Archives of sexual behavior, vol. 47, no. 1, pp. 143-156, 2018.
[2] A.W. Fingerhut and L.A. Peplau, “The impact of social roles on stereotypes of gay men,” Sex roles, vol. 55, no. 3-4, pp. 273-278, 2006.
[3] P. Arunrangsiwed, K. Utapao, P. Bunyapukkna, K. Cheachainart and N. Ounpipat, “Emo Myth: 10-Year Follow-Up Stereotype Test of Emo Teens in 2000s,” in ICISW2018: The 80th Anniversary of Suan Sunandha Rajabhat University (SSRU) “International Conference on Innovation, Smart Culture and Well-Beings,” Bangkok, Thailand: Suan Sunandha Rajabhat University, 2018.
[4] T.G. Sandfort, R. de Graaf, R.V. Bijl and P. Schnabel, “Same-sex sexual behavior and psychiatric disorders: Findings from the Netherlands Mental Health Survey and Incidence Study (NEMESIS),” Archives of general psychiatry, vol. 58, no. 1, pp. 85-91, 2001.
[5] G.A. Boysen, D.L. Vogel, S. Madon and S.R. Wester, “Mental health stereotypes about gay men,” Sex Roles, vol. 54, no. 1-2, pp. 69-82, 2006.
[6] P. Grant, “Some’Black Gay Fantasy’: An Exploratory Study of Discrimination and Identity-Appraisal among Black Same Gender Loving Men,” Journal of Black Sexuality and Relationships, vol. 4, no. 3, pp. 49-72, 2018.
[7] T.G. Morrison and A.G. Bearden, “The construction and validation of the homopositivity scale: An instrument measuring endorsement of positive stereotypes about gay men,” Journal of Homosexuality, vol. 52, no. 3-4, pp. 63-89, 2007.
[8] P. Arunrangsiwed, N. Ounpipat and K. Cheachainart, “Women and Yaoi Fan Creative Work,” Executive Journal, vol. 38, no.2, pp. 59-73, 2018.
[9] J. Keller, “Recuperating and Reviling South Park’s Queer Politics,” Queers in American Popular Culture, vol. 2, 273, 2010.
[10] J. Johnson, “We’ll Have a Gay Old Time!: Queer Representation in American Prime-Time Animation from the Cartoon Short to the Family Sitcom,” Queers in American Popular Culture, vol. 2, pp. 247, 2010.
[11] A. Putnam, “Mean ladies: Transgendered villains in Disney films,” Diversity in Disney films: Critical essays on race, ethnicity, gender, sexuality and disability, pp. 147-62, 2013.
[12] M. Li-Vollmer and M.E. LaPointe, “Gender transgression and villainy in animated film,” Popular Communication, vol. 1, no. 2, pp. 89-109, 2003.
[13] C.M. McGill, “This Burning Desire is Turning Me to Sin: The intrapersonal sexual struggles of two Disney singing villains,” Queer Studies in Media & Popular Culture, vol. 3, no. 1, pp. 27-49, 2018.
[14] D.S. McLeod, “Unmasking the quillain: queerness and villainy in animated Disney films,” Doctoral Dissertation, University of Wollongong, 2016.
[15] F. Dhaenens, “The fantastic queer: Reading gay representations in Torchwood and True Blood as articulations of queer resistance,” Critical Studies in Media Communication, vol. 30, no. 2, pp. 102-116, 2013.
[16] M.S. Giunchigliani, “Gender Transgressions of the Pixar Villains,” Doctoral Dissertation, Hawaii Pacific University, 2011.
[17] V. Palmer‐Mehta and K. Hay, “A superhero for gays?: Gay masculinity and Green Lantern,” The journal of American culture, vol. 28, no. 4, pp. 390-404, 2005.
[18] V.W. Gerde and R.S. Foster, “X-Men ethics: Using comic books to teach business ethics,” Journal of Business Ethics, vol. 77, no. 3, pp. 245–258, 2008.
[19] E. Alward, “Superhero Comic Book,” in Newsstand Magazine: Review & Recommendation, pp. 33-38, 1982.
[20] S. Cain “Marvel executive says emphasis on diversity may have alienated readers,” in The Guardian 2017. Retrieved on 3 Apr, 2017 from https://www.theguardian.com/books/2017/apr/03/marvel-executive-says-emphasis-on-diversity-may-have-alienated-readers
[21] J.J. Darowski, “Reading The Uncanny X-Men: Gender, Race, and the Mutant Metaphor in a Popular Narrative,” Michigan State University, American Studies, 2011.
[22] R. Lendrum, “Queering Super-Manhood: The Gay Superhero in Contemporary Mainstream Comic Books,” Journal for the Arts, Sciences, and Technology, vol. 2, no. 2, pp. 69-73, 2004.
[23] P. Arunrangsiwed, B. Puangchuerkaew and P. Praditthakul, “The Gay who Kicked the Zombies: The Changing of Comic Readers’ Perceived Stereotype of Gay Men,” ITMSOC Journal, vol. 4, no. 1, 2019.
[24] A.S. Henderson, “Just like us? LGBTQ characters in mainstream comics,” in Teaching Comics Through Multiple Lenses, 2016, pp. 76-92.
[25] M. Mesquita, “Fear of Apocalypse and Sinister Truths in the X-Men Universe: An Analysis on Metaphors of Mutation, the Collective Shadow, and Prevalent Archetypes of Good and Evil in the X-Men Comics,” Master’s thesis, York University, 2017.
[26] G. Corin and G. Schott, “From fan appropriation to industry re-appropriation: the sexual identity of comic superheroes,” in Superheroes and Identities, M. Gibson, D. Huxley and Ormrod, Eds., Routledge, 2016.
[27] L.C. King, (2016). “Passing, Covering and the Role of Authenticity in Marvel’s X-Men Universe,” Master’s thesis, Harvard Extension School, 2016.
[28] M.J. Griffin II, “The new mutants: superheroes and the radical imagination of American comics, by Ramzi Fawaz, New York, New York University Press, 2016 (ISBN 978-1-4798-2308-6),” Journal of Graphic Novels and Comics, vol. 8, no. 2, pp. 222-224, 2017.
[29] R. Fawaz, The New Mutants: Superheroes and the Radical Imagination of American Comics, NY: Jster, NYU Press, 2016.
[30] C. Bucciferro, “Mutancy, otherness, and empathy in the x-men,” in The X-Men films: A cultural analysis, 2016, pp. 209-222.

© Copyright information
Proud Arunrangsiwed

One response to “งานวิจัยเรื่อง ชายกลายเพศ กับ มนุษย์กลายพันธุ์ Ex-Men in X-Men

  1. Natjana Attaporn

    Toy Story 2
    กับงานวิจัยเรื่อง ชายกลายเพศ กับ มนุษย์กลายพันธุ์ Ex-Men in X-Men

    เป็นตอนที่ buzz lightyear ตาม al mcwhiggin ออกไปที่รถยนต์แต่ประตูห้างไม่เปิดเลยพังกล่องที่วางเรียงสูงไว้ให้ล้มลงมาเพื่อให้ประตูเปิดและตัว zurg เห็น buzz lightyear กำลังวิ่งเลยตื่นขึ้นมาและตาม buzz lightyear ไป

    การ์ตูนนี้เป็นตุ๊กตากลายพันธ์ก็ว่าได้ เพราะตุ๊กตาทุกตัวในเรื่องนั้นมีชีวิต พอเจ้าของโตขึ้นก็โดนมองข้ามเหมือนกับว่าตุ๊กตาไม่มีความเท่าเทียมกันกับคนถึงแม้ว่าตุ๊กตาจะมีชีวิตมีจิตใจ แต่พอเจ้าของโตขึ้นก็จะมองของพวกนั้นต่างไปจากเดิม ไม่ให้ความสนใจ และเหมือนว่าการที่zurgถูกปลุกก็เพราะมันต้องการความสนใจ มันไม่ได้รับความเท่าเทียมเพราะเป็นตัวร้ายของเรื่อง การที่เป็นตัวร้ายก็จะไม่มีใครชอบ หรืออาจจะเอาตัวzurgไปสู้กับตัวอื่นเพื่อทำให้แพ้ zurg ไม่ได้รับความสนใจทั้งในหมู่เด็กและหมู่กลุ่มพวกตุ๊กตา ถึงแม้ว่าความจริงแล้วมันจะเป็นพ่อของ buzz lightyear ก็ยังไม่ได้รับความสนใจอยู่ดีเพราะเป็นตัวร้ายของเรื่อง

    60123329041 (004) Tue. 14.00-16.00

    Like

Leave a Reply ถาม หรือ แสดงความคิดเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.